กทม.แจง “ตลาดนัดจตุจักร” เก็บค่าเช่า-ค่าปรับโปร่งใส ตามเกณฑ์

กรุงเทพฯ 19 ก.พ. – กทม. แจง “ตลาดนัดจตุจักร” เก็บค่าเช่า-ค่าปรับโปร่งใส ตามเกณฑ์ เตรียมปรับปรุงพื้นที่โครงการ 30 บริเวณหอนาฬิกา สร้างแลนด์มาร์กใหม่ ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว


นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ประธานกรรมการบริหารสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการแถลงข่าว การบริหารงานภายในตลาดนัดจตุจักร ในประเด็นความโปร่งใสในการบริหารจัดการ การยกเลิกสิทธิแผงค้าและค่าปรับ รวมถึงแนวทางการบริหารพื้นที่และการพัฒนาตลาด เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาว

สำหรับค่าเช่าแผงค้าตลาดนัดจตุจักร ปัจจุบันตามมติ ครม. ปี 2561 ให้เช่าแผงค้า 1,800 บาทต่อแผงต่อเดือน (ถูกกว่าผู้ค้าเช่าตรงจาก รฟท. ช่วงปี 2554 – 2561 ซึ่งอยู่ที่ 3,127 บาทต่อเดือน) โดยตลาดนัดจตุจักรแบ่งจัดเก็บค่าเช่าแผง 3 ประเภทคือ แผงค้าถาวร ค่าเช่า 1,800 บาทต่อเดือน แผงค้าเต็นท์เขียว ค่าเช่า 1,400 บาทต่อเดือน และแผงค้าต้นไม้ 900 บาทต่อเดือน โดย กทม. ต้องจ่ายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย 169 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 – 2565 เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครได้มีประกาศฯ งดจัดเก็บค่าเช่า ลดค่าเช่า เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้เช่าแผงค้าทุกสัญญา ทำให้การจัดเก็บรายได้ลดลง และในปีงบประมาณ 2566 – 2567 มีการจัดเก็บรายได้เพิ่ม อาทิ ค่าบริหารส่วนกลาง ค่าทำเล ค่าใช้พื้นที่ว่างต่าง ๆ


ทั้งนี้ กรณีการเก็บเงินค่าเช่าแผงค้าตลาดนัดจตุจักร ที่มีข้อสงสัยว่าตลาดนัดจตุจักรมีการรับเงินแล้วออกใบเสร็จรับเงินแผงค้าโครงการ 30 (เต็นท์เขียว) และลานเร่ บริเวณหอนาฬิกา แต่ไม่นำรายได้เข้าระบบตั้งแต่ปี 2562 – 2566 ปีละหลายล้านบาทนั้น สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ขอชี้แจงว่า เมื่อตลาดนัดจตุจักรรับชำระเงินค่าเช่าแผงค้าแล้ว งานการคลัง ตลาดนัดจตุจักรจะออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้ค้า และจะรวบรวมจำนวนเงินที่ได้รับชำระในแต่ละวันจัดทำข้อมูลรายได้ประจำวันเข้าระบบส่งให้กับฝ่ายการคลัง สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร โดยบันทึกบัญชีรวมเป็นหัวข้อ “รายได้จากแผงค้า” ซึ่งมีการแจกแจงเป็นแต่ละโครงการระบุตามรหัสบัญชีโครงการ เช่น โครงการ 1-29 โครงการ 30 โครงการ 31 (แผงค้าต้นไม้) ฯลฯ

ส่วนของลานเร่ บริเวณหอนาฬิกา จะบันทึกบัญชีรวมอยู่ในหัวข้อ “รายได้จากพื้นที่ว่าง” เมื่อถึงสิ้นเดือน ฝ่ายการคลัง สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร จะบันทึกบัญชีรายได้ประจำเดือนเข้าระบบโดยระบุแต่เฉพาะหัวข้อ “รายได้จากแผงค้า” “รายได้จากพื้นที่ว่าง” เท่านั้น ซึ่งเมื่ออ่านโดยไม่ทราบรายละเอียดการบันทึกบัญชีที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานกันอยู่ จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่ามีการทุจริตเงินรายได้ค่าเช่าแผงค้าตลาดนัดจตุจักรดังกล่าว ทั้งที่ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการบันทึกบัญชีระหว่าง 2 หน่วยงานสอบทานกันอยู่

จากกรณีที่มีการกล่าวว่า กทม. ประกาศยกเลิกสิทธิแผงค้าโครงการ 30 (เต็นท์เขียว) ผู้ค้า 529 ราย บริเวณลานหอนาฬิกา โดยไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าอย่างเป็นธรรมและไม่มีช่องทางให้สามารถอุทธรณ์หรือชี้แจงได้นั้น กทม. ขอชี้แจงว่า ปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้ไม่มีความสวยงาม เหลือความกว้างเป็นทางเดินเพียง 9.0 เมตร จากเดิม 19.00 เมตร และทำให้ร้านค้ากึ่งถาวรที่ตั้งอยู่ด้านริมของพื้นที่ถูกบดบัง ระบายอากาศไม่ดี มีการร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อสัญญาให้สิทธิจำหน่ายสินค้าใกล้จะสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2567 กทม. จึงมีนโยบายที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้มีความสวยงาม เป็น Landmark ของนักท่องเที่ยวที่มาตลาดนัดจตุจักร ดึงดูดประชาชนให้เข้ามาสู่บริเวณลานหอนาฬิกาให้มากขึ้น โดยต้องสัญจรผ่านแผงค้าตามซอยแยกโครงการต่าง ๆ ที่ทำการค้าไม่ค่อยดี เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ


สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร จึงได้ออกประกาศ เรื่องให้ผู้ค้าโครงการที่ 1 – 29 และ 31 มาจัดทำสัญญา ซึ่งหมายถึงจะไม่ต่ออายุสัญญาให้แผงค้าโครงการ 30 แต่ภายหลังสำนักงานตลาดได้ขยายเวลาให้สิทธิโครงการ 30 สามารถค้าขายได้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 ก่อนที่จะคืนพื้นที่ให้กับสำนักงานตลาด เพื่อให้ผู้ค้าได้มีโอกาสเตรียมรื้อย้ายและบรรเทาความเดือดร้อน สำนักงานตลาดได้เปิดโอกาสให้ผู้ค้ากลุ่มนี้ที่ไม่มีหนี้ค้างมาเลือกแผงค้าว่างที่มีอยู่ภายในตลาดนัดจตุจักรประมาณ 200 แผงค้า โดยไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้า 60,000 บาท แต่มีผู้ค้ามาเลือกเพียง 15 ราย โดยแผงค้าโครงการ 30 มีจำนวนทั้งหมด 529 แผงค้า ติดค้างค่าเช่าไม่ยอมชำระ 122 แผงค้า ซึ่งสำนักงานตลาดได้บอกเลิกสัญญาและจะส่งเรื่องฟ้องร้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ เมื่อสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครได้แจ้งแนวทางในการเลือกขอรับสิทธิเช่าแผงค้าอื่นได้ (ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า) จึงมิใช่ผู้เดือดร้อนหรือได้รับความเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ฉะนั้น จึงมิใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดี

ในส่วนค่าปรับกรณีชำระค่าเช่าล่าช้า ที่มีประเด็นกล่าวว่าอัตราสูงถึง 1,800% ต่อปี นั้น ในกระบวนการคิดค่าปรับของตลาดนัดจตุจักร ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 – กุมภาพันธ์ 2566 คิดค่าปรับกรณีมีการชำระค่าเช่าล่าช้าในอัตราวันละ 5% ของค่าเช่ารายเดือน หรือเท่ากับวันละ 90 บาท หรือ 2,700 บาทต่อเดือน โดยยกเว้นให้ถึงเดือนธันวาคม 2564 อ้างอิงตามสัญญา และ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 – มิถุนายน 2567 คิดอัตราค่าปรับใหม่เป็น 300 บาทต่อแผงต่อเดือน สำหรับผู้ค้าที่ต่อสัญญา และตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ยกเลิกสัญญาสำหรับผู้ที่ไม่ต่อสัญญาฉบับใหม่แต่ยังคงเปิดร้านและไม่ชำระค่าเช่า โดยจะคิดค่าผิดนัดชำระคิดดอกเบี้ย 5% ต่อปี ทั้งนี้ คู่สัญญาคือผู้ค้าได้รับทราบแล้วในการทำสัญญาเช่า และมีหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าเช่าแผงค้าให้ตรงตามกำหนด มิใช่ปล่อยให้ค่าปรับเพิ่มขึ้นทุกวันโดยไม่สนใจมาชำระค่าเช่าเป็นระยะเวลานานจนยอดค้างชำระมีจำนวนที่สูง

สถานการณ์ปัจจุบัน ตลาดนัดจตุจักรมีแผงค้าทั้งหมด 10,334 แผง มีแผงว่าง 2,028 แผง คิดเป็น 20% โดยเจ้าของแผงค้าเดิมเสียชีวิต อยู่ระหว่างโอนสิทธิ 62 ราย 107 แผง บอกเลิกสัญญาแล้วอยู่ระหว่างส่งฟ้องคดี 152 ราย 275 แผง มีหนังสือบอกเลิกสัญญา 650 ราย 1,353 แผง (ปัจจุบันมีผู้ค้ามาขอต่อสัญญาต่อเนื่อง) ทั้งนี้ ร้านค้าส่วนใหญ่ที่ขายดีเป็นร้านค้าที่อยู่ตามแนวถนนสายหลัก ส่วนร้านค้าด้านในบางโซนคนเดินไม่ถึงทำให้เกิดแผงว่าง

สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะสั้น กรุงเทพมหานครต้องการดึงดูดลูกค้าใหม่ ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ค้า และหารายได้ให้กับตลาดเพิ่มเติม โดยเปิดประมูลให้เอกชนเช่าพื้นที่ทำตลาดนัดกลางคืน ตั้งแต่เวลา 19.00 – 24.00 น. ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ไม่นับเป็นที่จอดรถ เนื่องจากตลาดก่อสร้างมาก่อนกฎหมายควบคุมอาคาร ในปัจจุบันทางเดินมีความคับแคบเพียง 9 เมตร ไม่สะดวกต่อการสัญจรของประชาชน สำนักงานตลาดจึงมีแนวทางที่จะเข้ามาดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ตามแผนเมื่อได้รับพื้นที่คืนจากผู้ค้า

ด้านการแก้ไขปัญหาระยะยาว กทม. ร่วมกับคณะกรรมการ Soft Power ศึกษาแนวทางการปรับปรุงพื้นที่ตลาดจตุจักรต่อไปในอนาคต โดยจะมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การจัดวางแผงค้าในตลาดใหม่ให้ดีขึ้น ทั้งด้านการบริหารจัดการ และการดึงดูดนักท่องเที่ยว.-417-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เร่งล่า 4 คนร้ายซุ่มยิงตำรวจ สภ.ยะรัง เสียชีวิต 2 นาย

เร่งล่า 4 คนร้ายซุ่มยิงตำรวจ สภ.ยะรัง เสียชีวิต 2 นาย ขณะที่ ผบ.ตร. อาลัยตำรวจกล้า สั่งต้นสังกัดดูแลสิทธิประโยชน์ เลื่อนเงินเดือนและชั้นยศ

นักโทษกลับใจ

อดีตนักโทษกลับใจ หลังติดคุก 30 ปี โทรคุยกับพ่อทั้งน้ำตา

อดีตนักโทษชีวิตโตมาในคุก ตั้งแต่อายุ 19 จนตอนนี้ อายุ 49 ปี ร่ำไห้กับตำรวจ ขอให้ช่วยพากลับบ้านที่จากมา 30 ปี ตำรวจโทรศัพท์หาพ่อ ให้ 2 พ่อลูกคุยกันทั้งน้ำตา

ตำรวจจีนพาผู้ต้องสงสัยฉ้อโกง 200 ราย กลับจากเมียนมา

พลเมืองจีน 200 รายที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกง ถูกส่งตัวจากเมืองเมียวดีในเมียนมากลับจีนแล้วเมื่อวานนี้ ภายใต้การคุ้มกันของเจ้าหน้าที่ตำรวจจีน

เด็ก 12 สูบบุหรี่ไฟฟ้า-ดื่มน้ำกระท่อม ทำปอดหาย

ย่าช็อก หลานวัย 12 ปี อาการวิกฤติ ปอดหายเกือบทั้งหมด ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หลังสูบบุหรี่ไฟฟ้าและดื่มน้ำกระท่อมตั้งแต่ ป.4

ข่าวแนะนำ

ส่งกลับเหยื่อคอลเซ็นเตอร์ชาวจีนอีก 300 คน

วันที่สองของปฏิบัติการขนเหยื่อคอลเซ็นเตอร์ชาวจีนจากเมียวดี ข้ามชายแดนไทย ส่งกลับประเทศอีก 300 คน รวม 2 วัน ส่งกลับแล้ว 500 คน เหลือพรุ่งนี้อีก 1 วัน

บุกทลายบ่อนทุนจีนเทากลางเมืองภูเก็ต

ตำรวจภูเก็ตบุกทลายบ่อน ‘กลุ่มจีนเทา’ กลางเมืองภูเก็ต รวบนักพนันชาวจีน 13 ราย พร้อมของกลางกว่า 30 รายการ พบเงินหมุนสัปดาห์เดียวกว่า 5 ล้านบาท

ซุ่มยิงเจ้าของร้านข้าวแกงเสียชีวิตขณะเปิดร้าน

คนร้ายโหดซุ่มยิงเจ้าของร้านข้าวแกง กระสุนเจาะทะลุคอเสียชีวิต ขณะยกกับข้าวเตรียมเปิดร้าน ตำรวจเร่งหาเบาะแสคนร้ายและปมเหตุสังหาร

บ่อนดังย่านดอนเมืองปิดเงียบ ขึ้นป้ายห้ามเข้าออก

บ่อนดังย่านดอนเมืองปิดเงียบ ขึ้นป้ายพื้นที่ส่วนบุคคลห้ามเข้าออก พบปิดกิจการตั้งแต่ 16 มี.ค.63 ขณะที่มีกล้องวงจรปิดติดตั้งโดยรอบ