สำนักข่าวไทย 20 ต.ค.-พระราชกิจจาภรณ์จากวัดสระเกศ ให้ความรู้เรื่องพระอภิธรรมในพระราชพิธีบําเพ็ญพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า พระอภิธรรม เรียกให้เต็มว่า พระอภิธรรมปิฎกเป็น 1 ใน 3 แห่งพระไตรปิฎก ได้แก่ พระวินัยปิฎก พระสูตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก
พระอภิธรรมปิฎก คัมภีร์ที่บันทึกหัวข้อธรรมที่แสดงสภาวะความจริงอันสูงสุดของธรรมชาติล้วนๆ หมายถึงความจริงอันสูงสุดของนาม คือจิต และเจตสิก สิ่งปรุงแต่งจิต ความจริงอันสูงสุดของรูป เป็นเหตุแห่งสุขและทุกข์ อันเกิดจากตัณหา อุปาทานและความจริงอันสูงสุดของนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมอันประเสริฐ ธรรมอันยิ่ง ธรรมที่แท้จริง ไม่เจือด้วยสมมุติ พ้นจากความสุขและทุกข์ อันปัจจัยปรุ่งแต่ง เป็นความสุขอันเกิดจากความสงบระงับ
เนื้อความในพระอภิธรรม เป็นปรมัตถธรรมล้วน ๆ พระพุทธเจ้ารู้พระอภิธรรม อันประณีต ละเอียด ลึกซึ้งด้วยพระปัญญาอันเกิดจากกำลังสมาธิและทรงเลือกพระอภิธรรมนี้ ไปแสดงโปรดพระพุทธมารดา บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ใช้เวลาเทศนาอยู่ 1 พรรษา ส่วนพระพุทธมารดา เมื่อฟังเทศนากัณฑ์นี้จบลง ก็ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล ขั้นพระโสดาบัน
ในวันที่พระพุทธองค์ เสด็จกลับจากจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น ได้มีประชาชนมารอรับเสด็จเป็นจำนวนมาก จึงเกิดประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ หลังออกพรรษา มาจนถึงปัจจุบัน
เหตุที่พระอภิธรรม ดูเหมือนมีเนื้อความประณีต ละเอียด ลึกซึ้ง เข้าใจยากสำหรับคนทั่วไปก็เพราะเป็นธรรมที่จะต้องใช้สภาวจิตที่ละเอียดประณีต อันเกิดจากความสงบ คือ ต้องใช้กำลังสมาธิสูง เพ่งพินิจพิจารณา จึงจะเห็นความจริงและเข้าใจได้ การทำสมาธิกำหนดสภาวจิตให้สงบนิ่งยากแค่ไหน การทำความเข้าใจหัวข้อธรรมในพระอภิธรรม ก็ยากยิ่งขึ้นไปอีกหลายเท่า
เนื้อความพระอภิธรรม มี 7 หมวด คือ 1.ธัมมสังคณี 2. วิภังค์ 3. ธาตุกถา 4. ปุคคลบัญญัติ 5. กถาวัตถุ 6. ยมก 7. ปัฏฐาน เรียกว่า “พระอภิธรรม 7 คัมภีร์”
รวมเนื้อความพระอภิธรรมทั้ง 7 คัมภีร์แล้ว พูดถึงความจริงสูงสุด 4 เรื่อง คือ จิต เจตสิก รูป และ นิพพาน ดังนี้
คัมภีร์ที่ 1 ธัมมสังคณี เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมหัวข้อปรมัตถธรรมทั้งหมดไว้เป็นหมวดหมู่
คัมภีร์ที่ 2 วิภังค์ เป็นคัมภีร์ที่แจกแจง หรือกระจายปรมัตถธรรม ออกไปเป็นขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 สัจจะ 4 ปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น
คัมภีร์ที่ 3 ธาตุกถา เป็นคัมภีร์ที่แสดงปรมัตถธรรม ด้วยบทมาติกา โดยสงเคราะห์เข้ากันได้ และสงเคราะห์เข้ากันไม่ได้ เป็นต้น
คัมภีร์ที่ 4 ปุคคลบัญญัติ เป็นคัมภีร์ ที่แสดงบทปรมัตถธรรม โดยบัญญัติ 6 ประการ ซึ่งยกบุคคลขึ้นแสดงเป็นหลัก
คัมภีร์ที่ 5 กถาวัตถุ เป็นคัมภีร์ที่แสดงพระอภิธรรมขึ้นโต้ตอบ โดยทำนองปุจฉาวิสัชนาเป็นเรื่องๆ มีอยู่ 1,000 เรื่อง เป็นสกวาทะ 500 เรื่อง ปรวาทะ 500 เรื่อง
คัมภีร์ที่ 6 ยมก เป็นคัมภีร์ที่ยกปรมัตถธรรมขึ้นแสดงเป็นคู่ๆ มีอนุโลมปุจฉา และปฏิโลมปุจฉา เป็นต้น
คัมภีร์ที่ 7 ปัฏฐาน เป็นคัมภีร์ ที่แสดงปัจจัย 24 โดยยกปรมัตถธรรมที่อยู่ในบทมาติกาติก มาอธิบายอย่างพิสดาร
พระพิธีธรรมจะใช้พระอภิธรรม 7 คัมภีร์ นี้ เป็นแม่บทของการสวดพระอภิธรรม นอกจากนี้ ยังนิยมสวดบทพระธรรมใหม่ ที่ขึ้นต้นด้วย คำว่า เหตุปัจจโย เสริมเข้ามาเป็นบทส่งท้ายอีก
บท”พระธรรมใหม่” ในพระอภิธรรมปิฎก หมายถึงพระธรรมหมวดใหม่ เป็นการยกธรรมหัวข้อหนึ่งๆ จากคัมภีร์ธัมมสังคณีมาอธิบายอีกที เช่น ยกคำว่ากุศลธรรม อกุศลธรรม เป็นต้น มาอธิบาย จึงเกิดธรรมหมวดใหม่ขึ้นเพิ่มจาก 7 คัมภีร์นั้น ซึ่งใช้ชื่อว่า“โคจฉกะ”แปลว่า “หมวด” และมีชื่อธรรมนำหน้าโคจฉกะนั้นๆ ทั้งหมด 12 หมวด
ในที่นี้พระพิธีธรรมนำสวด 6 หมวด และสุทธิกปฏิปทา ได้แก่
บทที่ 1 อาสวโคจฉกะ
บทที่ 2 สัญโญชนโคจฉกะ
บทที่ 3 คันถโคจฉกะ
บทที่ 4 โอฆโคจฉกะ
บทที่ 5 โยคโคจฉกะ
บทที่ 6 นีวรณโคจฉกะ
พระธรรมใหม่ ถ้าจะแปลให้ตรง ก็แปลว่า พระธรรมหมวดโคจฉกะ ไม่ได้หมายถึงพระพิธีธรรมแต่งบทสวดใหม่ขึ้นมาสวดเป็นพิเศษ
ด้วยเหตุที่พระอภิธรรมมีเนื้อความลึกซึ้ง เข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป เพราะเป็นธรรมที่จะต้องใช้สภาวจิตอันมีกำลังสมาธิสูงในการเข้าถึง ผู้ฟังสวดพระอภิธรรม ต้องใช้สมาธิในการฟังมาก จึงจะน้อมจิตตามได้ .-สำนักข่าวไทย