กรุงเทพฯ 13 ก.พ. – สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดเสวนาหัวข้อเส้นทางการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยืนยัน ภาคอุตสาหกรรม 47 กลุ่มของไทยต้องปรับตัว โดยจะดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงกำไรสูงสูงสุดเพียงอย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไปเพราะสินค้าทุกชิ้นที่ผลิตปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมจะต้องนำมาคำนวณด้วย ขณะที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท. ระบุการดำเนินธุรกิจของ ปตท. แม้จะให้ความสำคัญต่อความมั่นคงทางพลังงาน แต่ต้องสร้างสมดุลในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจจึงจะมีความยั่งยืน
ในงาน FTI EXPO 2025 ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการเสวนาเกี่ยวกับเส้นทางการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวเปิดการเสวนาโดยระบุว่าสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเร่งเดินหน้าวางกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยสู่เป้าหมาย Net Zero โดยกำหนดแนวทางที่ชัดเจนให้สอดรับกับแนวโน้มโลก ซึ่งกำลังให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด
ตลอดจนเตรียมพร้อมรับกติกาโลกใหม่เช่น กฎหมาย CBAM ของสหภาพยุโรปที่กำหนดภาษีคาร์บอนจากสินค้านำเข้า ปัจจุบันโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ประเทศต่างๆ เริ่มใช้มาตรการทางสิ่งแวดล้อม เช่น ค่าธรรมเนียมการปล่อยคาร์บอน ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ดังนั้น การปรับตัวไปสู่กระบวนการผลิตที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Clean & Green) จึงเป็นทางเลือกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่คำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจหลัก Mega Trend ของโลกในขณะนี้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด เช่น การปรับปรุงเครื่องจักรให้ประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และใช้พลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องเร่งลงทุนด้านนวัตกรรม เพื่อลดต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม แม้อาจต้องเพิ่มต้นทุนทางการผลิตในระยะสั้น แต่จะสร้างความยั่งยืนในระยะยาว
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้พัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดขยะ และพัฒนาระบบนอกจากนี้ให้ความสำคัญต่อการบำบัดน้ำเสียให้ได้มาตรฐาน
ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องคำนึงถึงการช่วยแก้ปัญหามลพิษ ลดขยะพลาสติกในมหาสมุทรโดยประเทศไทยติดอันดับ 6-7 ของโลกในด้านการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเล ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข
ทั้งนี้ การสร้างสมดุลระหว่างผลกำไรและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างสมดุล เพื่อให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบในตลาดโลก การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำไม่ใช่เพียงแค่การปรับตัว แต่เป็นโอกาสสำคัญที่อุตสาหกรรมไทยต้องคว้าไว้ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและความยั่งยืนในอนาคต
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. วางแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมุ่งสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การพึ่งพาธุรกิจพลังงานฟอสซิลเพียงอย่างเดียวไม่สามารถตอบโจทย์อนาคตได้อีกต่อไป บริษัทจึงเร่งปรับพอร์ตการลงทุนไปสู่ธุรกิจพลังงานทางเลือกและเทคโนโลยีสะอาด
ปตท.เดินหน้าปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี Carbon Capture and Storage (CCS) แม้ว่าปัจจุบันต้นทุนของเทคโนโลยีนี้ยังสูง แต่การลงทุนและวิจัยอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้สามารถลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการใช้งานในอนาคต
นอกจากนี้ ปตท. ยังลงทุนในพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่สามารถช่วยลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลได้ในระยะยาว การเปลี่ยนผ่านนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจพลังงานของไทย ควบคู่กับการสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม. -512 – สำนักข่าวไทย