กรุงเทพฯ 11 ก.พ. – ทองไทยเข้าภาวะกระทิง เปลี่ยนแปลงคึกคักวันนี้ (11 ก.พ.) ปรับเปลี่ยน 27 รอบ เข้าใกล้ 48,000 บาทต่อบาททองคำ มองเป้าหมายถัดไปที่ 50,000 บาทต่อบาททองคำ ด้านสภาทองคำโลก ชี้การซื้อทองเป็นการลงทุนมากกว่าการใช้เป็นเครื่องประดับ ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นตลาดทองคำที่แข็งแกร่งในปี 67 สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากราคาทองคำที่ปรับตัวสูงสุดในวันนี้ ราคาแตะใกล้ 48,000 บาท นักวิเคราะห์คาดว่ามีโอกาสจะแตะ 50,000 บาท ในส่วนการเข้าซื้อตามร้านค้าต่าง ๆ บางตา แต่มีการนำมาขายอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ราคาทองคำไทย ปรับตัวพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทองแท่งขายออก บาทละ 47,450 บาท ราคาทองรูปพรรณบาทละ 47,950 บาท และในวันนี้เกิดภาวะกระทิงทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงลดลงและเพิ่มขึ้นรวม 27 ครั้ง ราคาสุดท้ายของวันนี้ ทองแท่งขายออก 46,850 บาท ทองรูปพรรณขายออก 47,350 บาท สรุปแล้ววันนี้ราคาขึ้นจากวานนี้ 250 บาท/บาททองคำ
สภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) รายงานแนวโน้มความต้องการทองคำ ประจำไตรมาสที่ 4/67 และสรุปภาพรวมตลอดปี 67 โดยเปิดเผยข้อมูลความต้องการทองคำทั่วโลก ที่รวมปริมาณการซื้อขายทองคำนอกตลาดหลักทรัพย์ (Over-the-counter: OTC) ได้ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ ด้วยจำนวนรวม 4,974 ตัน แรงขับเคลื่อนจากการซื้อทองคำอย่างต่อเนื่อง และแข็งแกร่งของธนาคารกลาง และการเติบโตของความต้องการทองคำเพื่อการลงทุน มากกว่าการซื้อเป็นเครื่องประดับและทิศทางยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ส่งผลให้ความต้องการทองคำปี 67 รวมมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางยังคงซื้อทองคำในปริมาณที่มหาศาลโดยมีปริมาณการซื้อในระดับสูงกว่า 1,000 ตัน เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และการเข้าซื้อทองคำที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของธนาคารกลางในไตรมาสที่ 4/67 จำนวน 333 ตัน ได้ส่งผลให้ยอดรวมการซื้อทองคำของธนาคารกลางตลอดทั้งปี อยู่ที่ 1,045 ตัน
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2025/02/11/1487593/1739271599_202201-tnamcot.jpg)
ด้านความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนทั่วโลก ได้เพิ่มขึ้นถึง 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 1,180 ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 4 ปี โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการลงทุนในกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) โดยเพิ่มการซื้อทองคำจำนวน 19 ตันในไตรมาสที่ 4 ของปี 67 นับว่าเป็นกระแสการลงทุนในทิศทางไหลเข้าต่อเนื่องกันเป็นไตรมาสที่ 2 สำหรับสินทรัพย์ประเภทนี้ ขณะที่ความต้องการทองคำแท่ง และเหรียญทองคำทั่วโลก ยังคงระดับใกล้เคียงกับปี 66 อยู่ที่ปริมาณ 1,186 ตันสำหรับปี 67
โดยประเทศไทยมีระดับความต้องการทองคำแท่ง และเหรียญทองคำในไตรมาสที่ 4/67 จำนวน 14.6 ตัน เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้ปริมาณความต้องการของประเทศไทยรวมตลอดทั้งปี 67 อยู่ที่จำนวน 39.8 ตัน ก้าวขึ้นเป็นตลาดทองคำที่มีความแข็งแกร่งมีปริมาณความต้องการทองคำแท่ง และเหรียญทองคำ ปี67 สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ที่จำนวน 39.8 ตัน ขยายตัว 17% เทียบกับปีก่อน
อย่างไรก็ดี เนื่องจากสภาวะราคาทองคำที่พุ่งสูง สภาทองคำโลก จึงมองว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อความต้องการทองคำเครื่องประดับนั้นเป็นแนวโน้มที่ไม่น่าแปลกใจ โดยปริมาณการบริโภคทองคำเครื่องประดับทั่วโลกสำหรับปี 67 ได้ลดลง 11% อยู่ที่ระดับ 1,877 ตัน อย่างไรก็ตาม ความต้องการทองคำเครื่องประดับของไทยยังคงแข็งแกร่ง และปรับลดลงเพียง 2% และมีความต้องการรายปีรวมเป็น 9 ตัน ทั้งนี้ การลดลงของความต้องการทองคำเครื่องประดับทั่วโลกส่วนใหญ่นั้น มีที่มาจากประเทศจีน ซึ่งปรับลดลง 24% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่อินเดีย ยังมีปริมาณความต้องการที่แข็งแกร่ง และลดลงเพียง 2% เท่านั้น ภายใต้สภาวะของราคาทองคำที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
นายเซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าฝ่ายธนาคารกลางระดับโลก ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า ประเทศไทยนับว่ามีความแข็งแกร่งกว่าตลาดอื่น ๆ โดยมีปริมาณการบริโภคทองคำเครื่องประดับของไทยลดลงเพียง 2% ขณะที่ทั่วโลกได้ปรับลดลง 11% คาดว่า ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ปี 67 เป็นปีที่ไทยลงทุนในทองคำแท่ง และเหรียญทองคำแข็งแกร่งมาก และสูงเป็นอันดับที่ 7 ของโลก คนไทยได้มองว่าทองคำเป็น “สินทรัพย์เชิงกลยุทธ์” ที่ทั้งสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาว และช่วยลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นในประเทศได้ นอกจากนี้ การเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อการออมทองคำในรูปแบบดิจิทัล ยังได้ช่วยสนับสนุนให้ความต้องการทองคำของประเทศไทยแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง
สภาทองคำโลก ระบุว่า ทองคำในภาคเทคโนโลยี ได้ทำสถิติรายไตรมาสที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 64 เป็นต้นมา โดยมีความต้องการจำนวน 84 ตัน การเติบโตของปริมาณทองคำที่ใช้ในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง ได้ทำให้ความต้องการทองคำในภาคเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นปริมาณสุทธิรายปีรวม 326 ตัน. -511- สำนักข่าวไทย