กรุงเทพฯ 10 ก.พ. – “พิชัย” พบเอกชนสหรัฐ ดึงดูดการค้า-ลงทุน ท่ามกลางสงครามการค้าโลก หารือ Google สนับสนุน กรอบข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (ASEAN Digital Economy Framework Agreement หรือ DEFA)
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังนำคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ พบปะกับ Mr. Marcus D. Jadotte, Vice President of Government Affairs and Public Policy และคณะผู้บริหาร Google ณ Google DC กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ว่าได้หารือแนวทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ความมั่นคงไซเบอร์ และการส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ในประเทศไทย มี 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
- การลงทุนในโครงการภาครัฐ ซึ่ง Google แสดงความสนใจที่จะลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐของไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี Cloud Service และ Data center
- ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคงไซเบอร์ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับข้อมูล และการทำธุรกรรมออนไลน์ในระดับสากล
- กรอบข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (ASEAN Digital Economy Framework Agreement หรือ DEFA) ที่ทาง Google ตระหนักถึงบทบาทของไทย ในฐานะประธานการเจรจา DEFA และพร้อมที่จะให้ข้อมูลหรือการสนับสนุนที่จำเป็นในการผลักดันข้อตกลงนี้ให้เป็นมาตรฐานระดับสากล
- แนวทางการควบคุมเศรษฐกิจดิจิทัล ที่มีบางส่วนกังวลเรื่องกฎระเบียบที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล
นายพิชัย กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ต้องการจะผลักดันให้ข้อตกลง DEFA รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลได้ในอนาคต และให้ความสำคัญกับเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา ที่จะต้องปรับให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI ในการคุ้มครองเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ให้กฎหมายมีความทันสมัย มีเป้าหมายที่จะเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปี 2568
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2025/02/10/1486951/1739176732_205194-tnamcot-1024x688.jpg)
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2025/02/10/1486951/1739176732_200514-tnamcot-1024x683.jpg)
รมว.พาณิชย์ ยังได้เชิญชวนให้ Google เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาซูเปอร์แอปของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อช่วยสนับสนุนโครงการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งทาง Google แสดงความยินดี และพร้อมให้ความร่วมมือ และเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรม Data Center และ AI นอกจากนี้ นายพิชัย ยังพบปะหารือกับภาคเอกชนชั้นนำของสหรัฐฯ ทั้งคณะนักธุรกิจจากสภาหอการค้าสหรัฐฯ (US Chamber of Commerce – USCC) และสภาธุรกิจสหรัฐฯ–อาเซียน (US-ASEAN Business Council – USABC) บริษัทเอกชนอีก 26 แห่ง ณ สำนักงาน U.S. Chamber of Commerce กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
นายพิชัย กล่าวว่า ในการหารือได้เน้นย้ำถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2567 ประเทศไทยมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนปี 2567 มูลค่ากว่า 1.13 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี การส่งออกโตปี 2567 โตถึง 5.4 % พร้อมชูความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลาง Data Center, AI และอุตสาหกรรมอาหาร ปัจจุบัน มีบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น Google Microsoft และ Amazon เข้ามาลงทุน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ก็สนใจที่จะลงทุนด้านศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทย ซึ่งการหารือกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำด้านดิจิทัลอย่าง Google จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลในภูมิภาคได้ต่อไป โดยภาคเอกชนสหรัฐฯ ยังคงจับตานโยบายการค้าของรัฐบาลตนเอง และมุมมองของภาคเอกชนสหรัฐฯ ต่อไทยยังคงเป็นบวก โดยเห็นว่าไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญ และเป็นฐานการผลิตที่ดีในภูมิภาค
ทั้งนี้ ปี 2567 สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย (รองจากจีน) มูลค่าการค้ารวม 74,484.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 54,956.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยางอัญมณี รถยนต์ และเครื่องปรับอากาศ และไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 19,528.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น น้ำมันดิบ เครื่องจักรกล และเคมีภัณฑ์. -511-สำนักข่าวไทย
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2025/02/10/1486951/1739176752_513720-tnamcot-1024x687.jpg)