รัฐสภา 6 ก.พ.-พรรคประชาชน นำ สส.กทม.-ส.ก. แถลงสู้ฝุ่นพิษ PM2.5 ซัดรัฐบาล-กทม. เกิดช่องว่างประสานงาน ทำสถิติฝุ่นสูงกว่าปีที่แล้ว 20% ไร้มาตรการดูแลผู้สูงอายุ-เด็ก-กลุ่มเปราะบาง เป็นการฆ่าทางอ้อม เสนอให้ กทม.เป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษจากการเผา ปล่อยควันดำรถยนต์ โรงงาน-ให้อำนาจ กทม. จัดหารถขนส่งสาธารณะเป็น EV ทั้งหมด
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมด้วย สส. กทม. และ สก. ร่วมแถลงข่าวบริเวณชั้นดาดฟ้า อาคารรัฐสภา ถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่า อยากให้ผู้นำทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่นคือกรุงเทพมหานครดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นอย่างจริงจัง ซึ่งมองว่าปัญหามาจากช่องว่างของการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 2 ของการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ และเป็นปีที่ 3 ของการบริหารงานของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งสถานการณ์ฝุ่นตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568 จนถึง 5 ก.พ. เป็นช่วงเวลาที่ชาวกรุงเทพฯ ต้องอยู่ภาวะฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งถือเป็นวิกฤติปัญหาหลักในปัจจุบัน ซึ่งคนไทยรู้จักกับปัญหา PM 2.5 เป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า สถิติเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 และ 2568 ปัญหาฝุ่นปีนี้ มีความหนักหน่วงเพิ่มขึ้นถึง 20% ปริมาณฝุ่นที่ได้รับจากการสูดอากาศเข้าไปทั้งวัน ตลอด 24 ชั่วโมง อาจจะเท่ากับการสูบบุหรี่ 1.7 มวนเลยทีเดียว ที่ผ่านมาพรรคประชาชนได้พยายามผลักดันการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ประชาชนทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด และการตั้งกระทู้ถามในสภา
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นไม่ได้กระทบแค่กับคนใดคนหนึ่ง แต่กระทบตั้งแต่ทารกในครรภ์มารดา จนถึงคนเฒ่าคนแก่ และผู้ป่วยติดเตียง นอกจากผลกระทบด้านสุขภาพแล้ว ยังสร้างมูลค่าความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจเป็นมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริหารจำเป็นต้องดำเนินมาตรการอย่างจริงจัง อุดช่องว่างในการแก้ปัญหา
นายณัฐพงษ์ กล่าวสรุปว่า มาตรการต่างๆ ที่คนในพรรคได้เสนอมานั้นแบ่งเป็น 3 กลุ่ม 1. ผู้บริหารทั้งสองระดับอาจทำมาแล้วแต่ยังไม่เพียงพอ 2. อาจจะมีการสื่อสารมาแล้ว แต่ยังไม่เริ่มลงมือทำ 3. กลุ่มที่ยังไม่ได้มีการเริ่มดำเนินการใด คือ ยังไม่พอ ยังไม่ทำ ยังไม่เริ่ม
“ยังไม่พอ” นโยบาย Low Emission Zone หรือเขตควบคุมมลพิษต่ำยังไม่ครอบคลุม จำนวนที่บังคับใช้น้อยเกินไป จำนวนรถที่เข้าร่วมโครงการยังไม่มากพอ ข้อเสนอ คือ ต้องการให้มีการผลักดันการบังคับใช้มาตรการนี้ให้ครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
“ยังไม่พอ” อำนาจที่ยังไม่มากเพียงพอที่รัฐบาลส่วนกลางยังไม่ได้มอบให้กับท้องถิ่น ดังที่ กทม. สื่อสารว่ายังไม่มีอำนาจตรวจจับปรับรถที่มีควันดำ ซึ่งจะต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ขนส่งทางบก ซึ่งต้องสอดประสานกับรัฐบาลส่วนกลาง ที่จะมอบอำนาจให้กับท้องถิ่น
“ยังไม่พอ” การตรวจโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล นอกจากการติดตั้งเครื่องตรวจจับฝุ่นPM2.5 แล้ว การตรวจจับสารพิษสารเคมีต่างๆ ที่เป็นบ่อเกิดฝุ่นทุติยภูมิก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเตาเผาขยะของ กทม. ควรมีการติดตั้งเครื่องตรวจจับมลพิษด้วย
“ยังไม่พอ” พื้นที่ปลอดภัยให้กับกลุ่มเปราะบาง เช่นห้องปลอดฝุ่นในสถานที่ศึกษา หรือสถานสถานพยาบาลต่างๆ เพื่อดูแลประชากรกลุ่มเปราะบางทุกกลุ่มให้ได้รับการป้องกันอย่างทั่วถึง
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า “ยังไม่ทำ”เช่น การผลักดันพระราชบัญญัติรถเมล์อนาคต ที่กฤษฎีกาตีความว่ากทม. ไม่มีอำนาจในการทำเอง แต่เรายังมีรัฐบาลระดับประเทศที่มีอำนาจเต็มในการออกกฏหมายลำดับรองหรือประกาศต่างๆ เพื่อให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้รถโดยสารสาธารณะทุกสายต้องใช้พลังงานสะอาด หรือต้องใช้รถเมล์ไฟฟ้าอย่างเดียวเท่านั้น
”ยังไม่ทำ“ การปรับมาตรฐานปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ ให้สอดคล้องกับอายุของรถ สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานสะอาด
“ยังไม่ทำ” มาตรการเรือโดยสาร การควบคุมมลพิษเรือโดยสารทางน้ำ ที่ผู้ว่า กทม. ออกมาสื่อสารว่ายังมีอำนาจดำเนินการได้
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ในขณะที่ “ยังไม่ได้เริ่ม” คือ การประกาศเขตควบคุมมลพิษ วันนี้กรุงเทพมหานครยังขาดอำนาจการจัดการมลพิษที่มากเพียงพอ คือการรอประกาศให้กรุงเทพมหานครเป็นเขตควบคุมมลพิษ ให้สามารถควบคุมมลพิษที่เกิดจากการปล่อยมลพิษจากภาคขนส่ง จากโรงงานอุตสาหกรรม การเผาในพื้นที่ภาคการเกษตร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล นี่คือข้อเสนอมาตรการทั้ง 3 กลุ่ม ที่พรรคประชาชนเชื่อว่าหากมีการดำเนินการทำอย่างจริงจังมากเพียงพอระหว่างผู้บริหารระดับประเทศและระดับท้องถิ่น จะสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นPM2.5 ให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
พร้อมกันนี้ได้โชว์หนังสือเชิญชวนส่วนราชการทุกภาคส่วนและประชาชน ร่วมหาทางออกกำหนดแนวมาตรการนโยบายการดำเนินการทำทันทีเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน โดยในวันที่ 13 กุมภาพันธ์คณะกรรมาธิการที่ดินและสิ่งแวดล้อม และเชิญหน่วยงานราชการหารือร่วมกันในทุกส่วนมาตรการที่ได้นำเสนอไป
“ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้บริหารทั้งสองระดับ ทั้งนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะมาร่วมประชุมเองหรือส่งตัวแทนมา เพราะต้องการมีวิธีหาทางออกร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นวิกฤตร้ายแรงให้กับประชาชนได้ในทันที นอกจากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เชื่อว่าหากแก้ไขปัญหานี้ได้จะเป็น โรลโมเดล ตัวอย่างต้นแบบที่สามารถแก้ไขปัญหาในจังหวัดอื่นๆของประเทศได้อีก ซึ่งไม่อีกกี่เดือนข้างหน้าพื้นที่ภาคเหนือจะเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งประชาชนในภาคส่วนต่างๆรอการแก้ไขปัญหาเช่นเดียวกัน“ นายณัฐพงษ์ กล่าว
ด้านนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคประชาชน กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้กำลังเผชิญปัญหาฝุ่นพิษมาอย่างยาวนานและที่เลวร้ายที่สุดที่ไม่สามารถหาทางออกได้นั่นก็คือกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้เปราะบาง ซึ่งในกรุงเทพมหานครมีผู้สูงอายุอยู่ประมาณ 1,240,000 ราย ถือเป็น 10% ของประชากรทั้งประเทศ ที่ต้องเผชิญชะตากรรมไปเช่นนี้ โดยเฉพาะในเขตบางแคที่มีผู้สูงอายุจำนวนมากแต่ก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ เปรียบเสมือนเป็นการฆ่าผู้สูงอายุเหล่านี้ทางอ้อม.-315.-สำนักข่าวไทย