กรุงเทพฯ 3 ก.พ. – กรมสรรพสามิต จับมือจุฬาฯ -OR –บางจาก ขับเคลื่อนการรับรู้ภาษีคาร์บอนและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำมัน ย้ำ “ไม่เก็บภาษีคาร์บอน” จากน้ำมัน
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการลงนาม MOU ระหว่างคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมขับเคลื่อนและสนับสนุนการส่งเสริมการรับรู้ภาษีคาร์บอนและพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน มุ่งหวังส่งเสริมด้านพฤติกรรมการใช้พลังงาน รองรับเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
“ครม.เห็นชอบกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตให้มีกลไกราคาคาร์บอนในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตแบบภาคบังคับครั้งแรกของไทย เพื่อแสดงสัดส่วนของต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้น้ำมัน เพื่อนำไปคำนวณ ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor) ในทางวิทยาศาสตร์คูณกับราคาคาร์บอน (Carbon Price) ณ 200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ หากชาวบ้านรับรู้ว่าหากใช้น้ำมันสะอาด จะมีค่าปล่อยมลภาวะน้อยลง คาดกฎหมายมีผลบังคับใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ยืนยันภาษีดังกล่าวชาวบ้านไม่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น”
ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า ความร่วมมือของ OR กรมสรรพสามิต และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในครั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนการรับรู้ภาษีคาร์บอนและพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน OR พร้อมให้การสนับสนุน สอดคล้องกับนโยบาย OR SDG มุ่งสร้างสมดุลในทุกมิติ โดยเฉพาะด้าน G: Green ที่มุ่งสร้างโอกาสเพื่อสังคมสะอาดและการสนับสนุนให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนอีกด้วย
นายเสรี อนุพันธนันท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การกำหนดกลไกราคาคาร์บอนผ่านภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ถือเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกในการใช้มาตรการภาษีเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บางจากฯ พร้อมร่วมส่งเสริมการรับรู้ภาษีคาร์บอน สนับสนุนพฤติกรรมการใช้พลังงาน เพื่อให้ชาวบ้านได้เข้าใจเรื่องภาษีคาร์บอน โดยเฉพาะสมาชิกบัตรบางจากกรีนไมล์ส ผู้ใช้บริการสถานีบริการน้ำมันบางจาก
โดยนำเสนอข้อมูลในรูปแบบเข้าใจง่าย เปรียบเทียบกับการปลูกต้นไม้ ภายใต้แคมเปญ “ต้นไม้ของคุณ” เพื่อใช้น้ำมันจะบันทึกข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันสมาชิกบัตรบางจากกรีนไมล์ส ทำให้ผู้ใช้น้ำมัน ปรับพฤติกรรมการใช้น้ำมันรักษ์โลกเข้ากับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เตรียมเริ่มสื่อสารตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2568 โดยกำหนดกลุ่มตัวอย่างวิจัยประมาณ 3,500 ราย ภายในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ประเมินผลสัมฤทธิ์ของการส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีคาร์บอน และใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานในอนาคต เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมาย Net Zero และสร้างโลกยั่งยืน
ดร.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ทำให้เกิดการขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค จึงร่วมมือจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำร่องการสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ใช้น้ำมัน เมื่อเติมน้ำมันแต่ละครั้ง ประชาชนจะรับทราบว่ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) เท่าใดจากจำนวนน้ำมันที่เติม หวังส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลดการปล่อย Co2 ในระยะยาว.-515- สำนักข่าวไทย