ญี่ปุ่น 22 ม.ค.-“สุริยะ” นำการท่าเรือฯ ลงนาม LOI ร่วมกับเมืองโยโกฮามา ย้ำความสัมพันธ์ครบรอบ 10 ปี จับมือพัฒนากิจการท่าเรือ-โครงสร้างพื้นฐาน-บุคลากร-สิ่งแวดล้อม-ชุมชนของทั้งสองท่าเรือ ให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานสากลด้วยความยั่งยืน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นำการท่าเรือแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงระหว่างการท่าเรือฯ และเมืองโยโกฮาม่า และประชุมร่วมกับบริษัท Yokohama-Cargo-Center (YCC) ณ ประเทศญี่ปุ่น
นายสุริยะ เปิดเผยว่า นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญสำหรับการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent : LOI) ฉบับใหม่ เพื่อยกระดับความสัมพันธ์และความร่วมมือในด้านการพัฒนากิจการท่าเรือ โครงสร้างพื้นฐานและพื้นที่หลังท่า ส่งเสริมการตลาด เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมพร้อมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้ชุมชนของทั้งสองท่าเรือ เพื่อก้าวเป็นท่าเรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือเชิงวิชาการระหว่างกัน โดยเมืองโยโกฮาม่าจะสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่วมการศึกษาโครงการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพและการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญ (Flagship Project) ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม และจะสนับสนุนความช่วยเหลือเชิงวิชาการในด้านการพัฒนาท่าเรือสีเขียว การส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) มุ่งพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อม พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และการตลาดเชิงรุก เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันในอนาคต
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานกรรมการการท่าเรือฯ กล่าวต่อว่า การเดินทางเยือนโยโกฮาม่าในครั้งนี้ เป็นการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 10 ปี ระหว่างการท่าเรือฯ และเมืองโยโกฮาม่า แสดงถึงมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2557
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่าเรือโยโกฮาม่า มีแนวทางการพัฒนาและกำหนดนโยบายเช่นเดียวกับกระทรวงคมนาคมที่มุ่งเน้นการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเดินทางมาศึกษาดูงานในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับการท่าเรือฯ ในการแลกเปลี่ยนมุมมองการพัฒนาท่าเรือและสามารถนำมาปรับใช้กับการพัฒนาท่าเรือ รวมทั้งต่อยอดในโครงการต่างๆ ในหลายประเด็น อาทิ
1)การพัฒนาท่าเรือให้เป็นเมืองท่าและศูนย์กระจายสินค้า สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาค
2)การพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่หลังท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดพร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน
3)การพัฒนาระบบการให้บริการโลจิสติกส์เพื่อลดปัญหาการจราจร โดยพัฒนาพื้นที่จุดพักรถบรรทุก (Truck Parking) ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการจราจร (Truck Q) เพื่อลดปัญหาการจราจรทั้งภายในและภายนอกท่าเรือ
4)การพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว การบริหารจัดการและพัฒนาท่าเรือท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ โดยพัฒนาโครงการ Bangkok Port Passenger Cruise Terminal บนพื้นที่ 67.41 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งและการท่องเที่ยวทางน้ำ
สำหรับประเทศญี่ปุ่นนับเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย (อันดับที่ 3) โดยมีเมืองโยโกฮาม่าเป็นเมืองที่มี ขนาดใหญ่และมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากโตเกียว และมีท่าเรือโยโกฮาม่าที่เป็นท่าเรือสำคัญ ซึ่งกำกับดูแลโดยเมืองโยโกฮาม่าและประกอบการท่าเทียบเรือตู้สินค้าโดยบริษัท Yokohama Kawasaki International Port Corporation (YKIP) เป็นท่าเรือที่มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศญี่ปุ่น หรืออันดับที่ 68 ของโลก รองจากท่าเรือโตเกียว (อันดับที่ 46 ของโลก) โดยในปี 2566 มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า 3.02 ล้าน ทีอียู เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.68 จากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ท่าเรือโยโกฮาม่าเป็นท่าเรือท่องเที่ยวอันดับที่ 1 ของประเทศญี่ปุ่น โดยในปี 2566 รองรับเรือท่องเที่ยว จำนวน 171 ลำ และผู้โดยสาร จำนวน 467,536 คน โดยท่าเรือโยโกฮาม่าสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 30 ของรายได้ทั้งหมดของเมืองโยโกฮาม่า.-513.-สำนักข่าวไทย