กรุงเทพฯ 27 ก.ย. – บล.เอเซียพลัส ปรับเป้าหมายหุ้นไทยปีนี้ แตะ 1,700 จุด ปีหน้า 1,766 จุด รับผลบวกเศรษฐกิจปีหน้าโตร้อยละ 4
นางภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ได้มีการปรับประมาณการเป้าหมายหุ้นไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสปรับขึ้นแตะ 1,700 จุด ขณะที่ในปี 2561 เป้าหมายดัชนีหุ้นไทย อยู่ที่ 1,766 จุด ภาพรวมหุ้นไทยยังสดใส จึงเพิ่มน้ำหนักการลงทุน หุ้นไทยเป็นร้อยละ 60 ของพอร์ตจากเดิมร้อยละ 50
ส่วนปัจจัยหนุนมาจากเศรษฐกิจโลกช่วงปีนี้ถึงปีหน้ายังฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป รวมทั้งจีน เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยปีหน้า จะขยายตัวได้ร้อยละ 4 เพิ่มขึ้นในปีนี้ที่คาดว่าจะโตที่ร้อยละ 3.5 โดยปัจจัยขับเคลื่อนคือการส่งออกที่ยังโตได้ดี การลงทุนภาครัฐ ที่อยู่ทำได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงโครงการอีอีซีที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อเอกชนในการเดินหน้าลงทุนในไทย คาดว่าปีนี้ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนจะโตได้ ร้อยละ 7. 1 ขณะที่ปีหน้าจะโตร้อยละ 8.9
นอกจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจและกำไรของบจ.จะหนุนตลาดหุ้นแล้ว ราคาหุ้นไทยยังน่าสนใจเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น ๆ คาดกำไรสุทธิต่อหุ้นโตร้อยละ 8.9 และมีโอกาสเติบโตมากกว่านี้หากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเกินร้อยละ 4 ส่งให้อัตรากำไรสุทธิต่อราคาหุ้น หรือ พีอีเรโช ลดเหลือ 15 เท่า จาก 16.4 เท่า ทำให้ดึงดูดกระแสเงินทุนต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันการถือครองของนักลงทุนต่างชาติในไทยอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปี มียอดซื้อสุทธิสะสมอยู่ที่ 1.12 แสนล้านบาท ยังต่ำมากเมื่อเทียบกับ 4.47 แสนล้านบาท เมื่อปี 2556
ส่วนกลยุทธ์การลงทุนไตรมาสสุดท้ายของปี เน้นกลุ่มหุ้นที่คาดว่าผลประกอบการครึ่งปีหลังจะโตได้ดี เช่น กลุ่มเกษตร รับเหมาก่อสร้าง กลุ่มขนส่ง กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ธนาคาร และค้าปลีก
นางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บล.เอเซีย พลัส กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการออกมาประกาศว่า 5 ธนาคารยักษ์ใหญ่ มีความเสี่ยงเชิงระบบ จนกระทบต่อราคาหุ้นทั้ง 5 แห่ง ก่อนที่จะแก้ไขประกาศว่าทั้ง 5 ธนาคาร มีความสำคัญเชิงระบบ ว่า เรื่องดังกล่าวอาจเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด เพราะหากดูข้อเท็จจริง ถือเป็นการทำตามมาตรฐานสากล ตามเกณฑ์ บาเซิล 3 ที่ธนาคารแต่ละแห่งก็ดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 จนจะครบกำหนดเกณฑ์ในปี 2562 แล้ว ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาใดๆ
ขณะที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ น่าจะคงดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.50 เพราะมองว่าการลดดอกเบี้ยไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าและระดับดอกเบี้ยในปัจจุบันเพียงพอต่อการดูแลเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพอยู่แล้ว ส่วนอัตราการขยายตัวของสินเชื่อในปี2561 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6-7 ดันให้กำไรแบงก์โตได้ ร้อยละ 11 เพราะการสำรองหนี้สงสัยจะสูญ และระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล จะลดลง .- สำนักข่าวไทย