กรุงเทพฯ 23 ธ.ค. – กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วงปี 2567 โดยพบว่า ธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกายขยายตัวมากเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนธุรกิจที่ถดถอยที่สุดคือ ธุรกิจเหล็ก โลหะมีค่า และอัญมณีเนื่องจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกพร้อมแนะกลยุทธ์ให้ดำเนินธุรกิจอย่างยืดหยุ่น สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อรับมือความท้าทายในปี 2568
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดเผยถึงรายงานการวิเคราะห์ธุรกิจดาวรุ่ง-ธุรกิจดาวร่วงในปี 2567 ซึ่งจัดทำจากข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจเชิงลึก เช่น การจัดตั้งธุรกิจใหม่ ผลประกอบการ การเลิกกิจการ และปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยสรุปผลเป็น 5 อันดับธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วงดังนี้
ด้าน 5 ธุรกิจดาวรุ่ง ปี 2567
- ธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกาย
ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์กีฬา สถานฝึกสอน และจัดการแข่งขัน เติบโตสูงจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ มียอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ 732 ราย (เพิ่มขึ้น 36.31%) และรายได้รวม 93,397.82 ล้านบาท - ธุรกิจการท่องเที่ยวและความบันเทิง
โรงแรม ร้านขายของที่ระลึก และการแสดงโชว์ ได้รับผลบวกจากการท่องเที่ยวในประเทศ โดยมียอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ 1,976 ราย (เพิ่มขึ้น 31.82%) และรายได้รวม 359,670.04 ล้านบาท - ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
ได้แรงหนุนจากนโยบายสนับสนุน EV ของรัฐบาล มีธุรกิจใหม่ 1,033 ราย (เพิ่มขึ้น 21.53%) โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวถึง 61% และรายได้รวมกว่า 3.6 ล้านล้านบาท - ธุรกิจ e-Commerce
แพลตฟอร์มออนไลน์ การขนส่ง และบรรจุภัณฑ์เติบโตจากพฤติกรรมช้อปปิ้งออนไลน์ มียอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ 2,283 ราย (เพิ่มขึ้น 19.03%) และรายได้รวม 444,101.69 ล้านบาท - ธุรกิจการผลิตภาพยนตร์
อุตสาหกรรมภาพยนตร์ฟื้นตัวจากการสนับสนุนของภาครัฐ มียอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ 242 ราย (เพิ่มขึ้น 10%) และรายได้รวม 43,122.90 ล้านบาท
ส่วน 5 ธุรกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย/ต้องเร่งปรับตัว ปี 2567
- ธุรกิจการผลิตเหล็ก โลหะมีค่า และอัญมณี
เผชิญความท้าทายจากต้นทุนสูง การแข่งขันจากสินค้านำเข้า และตลาดที่ชะลอตัว จำนวนธุรกิจใหม่ลดลง 5.56% - ธุรกิจค้าปลีกแบบออฟไลน์ (ร้านโชห่วย)
ลดลง 1.21% จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น - ธุรกิจสื่อและประชาสัมพันธ์แบบออฟไลน์
การลดลงของธุรกิจสิ่งพิมพ์และโฆษณาออฟไลน์สะท้อนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ธุรกิจใหม่ลดลง 56.67% - ธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร
เผชิญปัญหาสภาพอากาศและมาตรการสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ธุรกิจใหม่ลดลง 24.54% - ธุรกิจตัวแทนและนายหน้า
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวและแพลตฟอร์มออนไลน์เข้ามาแย่งตลาด ธุรกิจใหม่ลดลง 14.91%
สำหรับความท้าทายของธุรกิจในปี 2568
นางอรมน ระบุว่า ภาคธุรกิจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในและต่างประเทศ แนะนำให้ผู้ประกอบการปรับตัว โดยใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ ติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจและปรับตัวให้รวดเร็ว และใช้ข้อมูลเชิงลึกและพัฒนาโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่รู้ทันการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้เร็วจะเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง. -512-สำนักข่าวไทย