คำเตือน: เนื้อหาของเหตุการณ์จริงมีความอ่อนไหวอาจไม่เหมาะสมสำหรับเยาวชน
ปารีส 20 ธ.ค.- เรื่องราวของสตรีฝรั่งเศส จีเซล เพลิโคต์ สร้างทั้งความตื่นตกใจ พร้อมกับสร้างแรงบันดาลใจ เธอเป็นเหยื่อของสามีเธอเองที่เชื้อเชิญชายหลายสิบคนร่วมกันวางยานอนหลับเพื่อข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ และบันทึกภาพไว้ภายในบ้านของเธอเองต่อเนื่องเป็นเวลานับสิบปี
คดีความที่เธอได้ลุกขึ้นสู้ปลุกกระแสเรียกร้องสิทธิ แสดงถึงความกล้าหาญของเธอที่หาได้ยากจากเหยื่อข่มขืน
หลังจากไต่สวนมานานราว 4 เดือน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม 2567 โดมินิก เพลิโคต์ ซึ่งขณะนี้เป็นอดีตสามี วัยเดียวกัน คือ 72 ปี ถูกศาลตัดสินตามอัยการร้องขอโทษจำคุก 20 ปี ในการไต่สวนนั้นเขาให้การรับสารภาพและได้ขอโทษต่อบาปกรรมที่ทำไว้
ส่วนจำเลยร่วมอีก 50 คน มีประวัติ ที่มา อายุและอาชีพ แตกต่างกันไป แต่ทั้งหมดทำผิดลักษณะเดียวกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทุกอย่างปรากฎในภาพวิดีโอและภาพนิ่งหลายพันที่โดมินิกบันทึกไว้เอง รวมถึงข้อความการติดต่อสื่อสารชี้ชวนของโดมินิกกับจำเลยร่วมที่มัดแน่น ทำให้ 47 คนถูกพิพากษามีความผิดฐานข่มขืน 2 คนฐานพยายามข่มขืน และที่เหลืออีก 2 คนฐานละเมิดทางเพศ
พฤติกรรม แฟมิลีแมน ช็อกชุมชนอันแสนสงบ
โดมินิก เพลิโคต์ เป็นอดีตช่างไฟฟ้าและตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ที่คนในชุมชนมองว่า เป็นคนโอบอ้อมอารี มักเห็นเขาร่วมกิจกรรมกับลูกๆ อยู่เสมอ ไม่มีใครคิดว่า จะได้รับรู้ว่า เขานำยานอนหลับผสมกับมันฝรั่งบด กาแฟ ไอศครีม ให้ภรรยารับประทาน แล้วเปิดประตูให้ชายหลายสิบคนเข้ามาข่มขืนถึงในบ้าน
ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า เขาซุกซ่อนกล้องวีดีโอบันทึกภาพเปลือยของภรรยา ลูกสาว และ ภรรยาของลูกชาย แล้วนำไปเผยแพร่ออนไลน์
คำยินยอมจากสามีเพียงพอหรือไม่
จำเลยร่วมหลายคนได้อ้างว่า พวกเขาได้รับคำเชิญจากสามี เท่ากับว่าเป็นคำยินยอมจากภรรยาแล้ว แต่อัยการแย้งว่า ภาพฟ้องอยู่ว่า จีเซลไม่รู้สึกตัวแล้วจะให้การรับรู้ยินยอมได้อย่างไร
ชายทั้ง 50 คนมาจากพื้นที่ในรัศมี 50 กิโลเมตรของเมืองเล็ก ๆ ชื่อ มาซาน (Mazan) ที่ครอบครัวเพเลโคต์อาศัย มีทั้งคนหนุ่ม คนชรา อายุตั้งแต่ 26 ถึง 74 ปี อาชีพหลากหลาย นักดับเพลิง คนขับรถบรรทุก พนักงานส่งของ ทหาร เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พัศดี ผู้สื่อข่าว และดีเจ
อัยการได้ทำสำนวนจำแนกการกระทำของจำเลยแต่ละคน จำนวนครั้งที่มีพฤติกรรมลวนลาม ล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่และลักษณะใด
ในการพิจารณาคดี ศาลได้รับฟังเรื่องของแต่ละคนที่มีส่วนร่วมในอาชญากรรมในแบบที่แตกต่างกันไป จำนวนครั้งไม่เท่ากัน ซึ่งต่างเป็นปัจจัยในการทำสำนวนและกำหนดบทลงโทษ ชายคนหนี่งให้การว่า “ผมข่มขืนเธอด้วยร่างกาย แต่สมองของผมไม่ได้สั่งการอย่างนั้น”
จำเลยคนหนึ่งชื่อ โรแม็ง วี วัย 63 ปี เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ข่มขืนจีเซล เพเลโคต์ ถึง 6 ครั้งโดยไม่สวมอุปกรณ์ป้องกัน แต่โชคดีที่เขาพ้นสภาวะการแพร่เชื้อ
กฎหมายฝรั่งเศสอ่อนด้อยด้านป้องกันการข่มขืน
กฎหมายข่มขืนของฝรั่งเศสให้นิยามการข่มขืนว่า เป็นการกระทำทางเพศใด ๆ ก็ตามที่กระทำโดย “ความรุนแรง การบังคับ การขู่เข็ญ” โดยไม่มีอ้างอิงถึงการยินยอมใด ๆ
ในการต่อสู้ทางคดี จำเลยโต้แย้งว่า ไม่มีความผิด เพราะไม่รู้ว่าจีเซลไม่อยู่ในสถานะที่จะให้ความยินยอมได้ ยกหัวใจหลักของคดีอาญาที่ต้องมีองค์ประกอบเรื่องเจตนาในการกระทำผิด
เมื่อสามียินยอม ภรรยาก็น่าจะเป็นใจ?
จำเลยหลายคนพยายามต่อสู้ว่า สามีเป็นคนชักชวน ก็ควรจะเพียงพอแล้วว่าสมยอม บางคนอ้างว่าถูกโดมินิกหลอกลวงหรือไม่ก็บังคับไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
แต่ในชั้นศาล โดมินิกยืนกรานซัดทอดทุกคนล้วนกระทำผิดร่วมกับเขาโดยให้การว่า เขาแจ้งชัดเจนว่าภรรยาไม่รู้เรื่องแผนการใด ๆ ด้วยเลย
เลวทรามลามไปอีกครอบครัว
อัยการยังได้ดำเนินคดีฟ้องชายอีกคนหนี่ง ชื่อ ฌ็อง ปีแอร์ มาเรชาล ที่พบกับโดมินิกทางเว็บไซต์ แล้วทั้งสองก็นัดแนะวางแผนร่วมกันโดมินิควางยา ซีเลีย มาเรชาล ภรรยาของเขาเพื่อจะได้ร่วมกันข่มขืน
มาเรชาล จึงถูกเรียกขานว่าเป็น “ลูกศิษย์” ของโดมินิก จากการเรียนรู้วิธีวางยาสลบกับภรรยาเพื่อทำร้ายเธอเป็นเวลา 5 ปี
ความละอายใจเปลี่ยนข้างไปแล้ว
“ผู้ที่ควรอับอาย ไม่ใช่เหยื่อ แต่ควรเป็นผู้ก่อเหตุต่างหาก” นี่คือสิ่งที่จีเซลบอกกับสังคม หลังจากฟังคำพิพากษา เธอกล่าวกับสื่อมวลชนว่า “พวกเราร่วมสู้ด้วยกัน”
“ในใจของเธอ รำลึกถึงเหยื่อที่ไม่ถูกเปิดเผยตัว เรื่องราวของพวกเขาที่ถูกปกปิดไว้” จีเซลกล่าวพร้อมกับลูกสาวและลูกชายสองคนที่ไปให้กำลังใจในวันพิพากษา
“ตั้งแต่เริ่มการพิจารณาคดีมา เธอต้องการให้สังคมร่วมเป็นพยานรับรู้สิ่งที่นำมาตีแผ่ในศาล เธอรู้สึกเชื่อมั่นว่าสังคมจะสร้างอนาคตที่ดีได้สำหรับทุกคน ไม่ว่าหญิงหรือชาย เพื่อใช้ชีวิตร่วมกันอย่างกลมเกลียวด้วยความเคารพและเข้าใจซี่งกันและกัน”
เสียงชื่นชมหลั่งไหลจากทุกสารทิศรวมถึงจากบรรดาผู้นำหลายชาติ นายโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีโพสต์ข้อความว่า “ขอบคุณ – คุณเลือกที่จะเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างกล้าหาญและต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ทำให้ผู้หญิงทั่วโลกมีเสียงที่ดังขึ้น ผู้ก่อเหตุเท่านั้นที่ควรมีความละอาย”
ความกล้าหาญของวีรสตรีที่ชื่อ จีเซล เพลิโคต์
จีเซล เพลิโคต์ ได้รับการชื่นชมจนกลายเป็นหนี่งในสตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของสื่อหลายสำนัก ในคดีข่มขืนที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส เธอสามารถที่จะร้องขอให้การพิจารณาคดีแบบปิดได้เพื่อไม่ให้เรื่องราวกระจายออกไป แต่เธอกลับเรียกร้องให้เปิดเผยทุกอย่างต่อสาธารณชน ด้วยความหวังว่าจะสามารถช่วยเหลือสตรีคนอื่น ๆ ที่ต้องตกเป็นเหยื่อให้เปิดโปงความเลวร้ายออกมาด้วย การเป็นเหยื่อไม่ใช่สิ่งที่น่าอาย คนทำผิดต่างหากที่สมควรละอาย
ทุกครั้งที่จีเซลเดินทางไปขึ้นศาลหรือปรากฎตัวที่ที่สาธารณะ เธอจะได้รับการต้อนรับ ชื่นชม โห่ร้องให้กำลังใจ ยิ่งไปกว่านั้นเรื่องราวยังปลุกกระแสการชำระล้างทางศีลธรรม รวมไปถึงการปรับปรุงตัวบทกฎหมายของประเทศต่างๆ ให้เท่าทันสังคมมนุษย์ที่เสื่อมโทรมและซับซ้อน.-812(814).-สำนักข่าวไทย