“ปวดศีรษะ” หรือ “ปวดหัว” อาการที่หลายคนเคยเป็นและเคยหาย แต่ปวดมากแค่ไหนต้องไปพบแพทย์ ปวดศีรษะแบบไหนกินยาก็เพียงพอแล้ว หรือปวดศีรษะแบบไหน เป็นสัญญาณอันตราย ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ อ.นพ.ประกิต อนุกูลวิทยา อายุรแพทย์โรคระบบประสาท คลินิกโรคปวดศีรษะ สาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรรมการชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะ ภายใต้สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย
อาการ “ปวดศีรษะ” อาจจะเป็นสัญญาณที่ทำให้ต้องหันมามองตัวเองว่า “ทำไมถึงปวด”
มีอะไรบางสิ่งบางอย่างที่ร่างกายบ่งชี้ หรือเป็นสัญญาณเตือนว่าจะต้องดูแลตัวเองมากขึ้น หรือต้องไปพบแพทย์
ส่วนใหญ่คนที่ปวดศีรษะมักจะไม่อยากไปพบแพทย์ คิดว่าปวดศีรษะแบบตึงเครียดธรรมดาเดี๋ยวก็หายเอง
ดังนั้น ต้องประเมินด้วยว่าอาการปวดศีรษะรบกวนชีวิตประจำวันของเราหรือไม่
การปล่อยอาการปวดศีรษะทิ้งไว้นาน ๆ โดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งอาจจะทำให้ไม่ได้เริ่มยาที่ถูกต้อง และมีการใช้ยาแก้ปวดที่ไม่ถูกต้อง สุดท้ายก็จะกลายเป็นปวดศีรษะแบบเรื้อรัง
ขอแนะนำว่าควรได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ใช้ขนาดยาที่ถูกต้อง และ/หรือ ได้รับการดูแลรักษาในระยะเวลาที่ถูกต้อง
“อาการปวดศีรษะ” ไม่สามารถหายได้เองทุกอาการ ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะยิ่งเพิ่มโอกาส “ปวดเรื้อรัง” ?
กรณีผู้ป่วยไมเกรน ส่วนหนึ่งร่างกายทำงานหนัก เช่น อดนอน หรือมีภาวะเครียด ก็ทำให้เกิดอาการปวดไมเกรนขึ้นมา ดังนั้น เมื่อมีอาการปวดศีรษะ จะต้องมาดูว่าอาการปวดศีรษะเป็นแบบไหน ถ้ารบกวนชีวิตประวันก็ควรไปพบแพทย์เพื่อจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป จะได้ไม่ปวดศีรษะเรื้อรัง
นอกจากนี้ อาการปวดศีรษะมีหลายกลุ่มด้วยกัน ได้แก่ ปฐมภูมิ และ ทุติยภูมิ
ปวดศีรษะปฐมภูมิ (การทำงานของสมอง) ปวดแบบไม่มีสาเหตุ เช่น ปวดไมเกรน พบว่าไม่มีพยาธิสภาพ แต่เป็นการทำงานของสมองที่มีความผิดปกติ
ปวดศีรษะทุติยภูมิ (ปวดศีรษะแบบมีสาเหตุ) ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุในสมอง เช่น มีเนื้องอก หรือมีพยาธิสภาพมาจากนอกสมอง เช่น ปวดศีรษะจากการใช้ยามากเกินไปหรือใช้ยาน้อยไป
รวมถึงอาการปวดศีรษะแบบมีสาเหตุแต่ไม่สามารถมองเห็นได้ ต้องใช้การซักประวัติ เช่น มีโรคประจำตัวต่าง ๆ ทำให้มีอาการปวดศีรษะ ใช้ยามากเกินไป (ใช้ยาบ่อย ๆ) เพื่อรักษาอาการปวดศีรษะ ทำให้อาการปวดศีรษะแย่ลงไป ซึ่งรวมถึงการไม่ใช้ยาบางอย่างหรือถอนยาบางอย่างออกก็ทำให้ปวดศีรษะได้เหมือนกัน
ปวดศีรษะแบบไหน รู้ได้อย่างไรต้องไปพบแพทย์ ?
มีอาการปวดศีรษะครั้งแรกและปวดรุนแรงแบบฉับพลัน หรือมีอาการปวดศีรษะที่รบกวนชีวิตประจำวันแล้ว เช่น ต้องหยุดงาน ต้องพักงาน เป็นอาการปวดศีรษะที่กระทบกิจกรรม ต้องไปพบแพทย์โดยเร็ว
อาการปวดศีรษะที่แย่ลง เช่น ไอ จาม เบ่ง ปวดมากขึ้น หรือออกกำลังกายแล้วปวดศีรษะ หรือนอนตอนกลางคืนมีอาการปวดศีรษะขึ้นมาก็ต้องไปพบแพทย์แล้ว
กรณีคนอายุ 50 ปี ไม่เคยมีอาการปวดศีรษะเลย แต่ปวดศีรษะจะต้องไปพบแพทย์ เพราะผู้ป่วยอายุมากปวดศีรษะอาจจะมีพยาธิสภาพได้ รวมถึงผู้ป่วยที่ปวดศีรษะและมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาการอ่อนแรง หูได้ยินเสียงลดลง ปากเบี้ยว ตาพร่ามัว การมองเห็นลดลง มองเห็นภาพซ้อน
คนที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิม เช่น ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ถ้ามีอาการปวดศีรษะควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาเพิ่มเติมต่อไป เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน
เข้าใจการดูแลอย่างถูกต้อง ทันเวลา ช่วยให้จัดการรักษาได้อย่างมีประสิทธิผล
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : ปวดหัวแบบไหน ต้องไปหาหมอ
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter