เชียงใหม่ 29 พ.ย. – ครม.ไฟเขียวปรับเพิ่มค่าตอบแทนข้าราชการ ให้เท่าผู้บรรจุใหม่ เงินเพิ่มเพดานค่าครองชีพชั่วคราวข้าราชการ 11,000- 14,600 บาท คาดใช้งบฯ 2,670 ล้านบาท
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.รับทราบข้อเสนอการปรับเพิ่มค่าตอบแทนแรกบรรจุใหม่ และปรับเพิ่มค่าตอบแทนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของพนักงานราชการ จากเดิมข้าราชการวุฒิปริญญาตรี มีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท และผู้ที่ปฏิบัติงานในตําแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. เงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท ภายใน 2 ปี โดยอัตราเงินเดือนของผู้ที่รับราชการอยู่ก่อนจะต้องไม่น้อยกว่าผู้ที่บรรจุเข้ารับราชการใหม่ โดยใช้คุณวุฒิระดับเดียวกัน และอัตราเงินเดือนหลังการปรับจะต้องไม่ทําให้ผู้ซึ่งเคยได้รับเงินเดือนสูงกว่ากลายเป็นผู้ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าผู้ดํารงตําแหน่งประเภทและระดับเดียวกันที่บรรจุในวุฒิเดียวกัน
จึงเพื่อปรับเพิ่มเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งรับราชการอยู่ก่อนวันที่อัตราเงินเดือนแรกบรรจุใหม่มีผลใช้บังคับ ทยอยปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ ตามคุณวุฒิเพิ่มขึ้น (ทุกคุณวุฒิ) ในอัตราร้อยละ 10 ภายใน 2 ปี โดยปีที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 (เช่น คุณวุฒิระดับปริญญาตรี จากเดิม 15,000 บาท เป็น 16,500 บาท ในปีที่ 1 และปรับเป็น 18,150 บาท ในปีที่ 2)
สำหรับการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ จํานวน 2 ครั้ง ให้มีผลใช้บังคับพร้อมกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 และปีที่ 2 โดยปรับเงินเดือนชดเชยในแต่ละปีให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับราชการก่อนวันที่ อัตราแรกบรรจุที่กําหนดใหม่มีผลใช้บังคับอย่างน้อย 10 ปี และยังได้ปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว เป็นการปรับเพดาน เงินเดือนขั้นสูง จากเดิมเงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 13,285 บาท เพิ่มเป็นเงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 14,600 บาท และปรับเพดานขั้นต่ำของเงินเดือน รวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิมเดือนละ 10,000 บาท เป็น เดือนละ 11,000 บาท
การปรับเงินเพิ่มการครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบํานาญขั้นต่ำ จากเดิม 10,000 บาท เป็น 11,000 บาท ซึ่งการปรับเพดานเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวนี้ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยข้าราชการ ลูกจ้างประจํา ทหารกองประจําการ และผู้รับบํานาญ และคาดว่าจะใช้งบประมาณ เพิ่มขึ้นไม่เกิน 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยให้ส่วนราชการใช้จ่ายจากงบประมาณของแต่ละส่วนราชการ เป็นลําดับแรก หากไม่เพียงพอให้ขอทําความตกลงกับสํานักงบประมาณ (สงป.) เพื่อขอใช้จ่าย จากงบประมาณรายจ่ายประจําปี งบกลาง รายการเงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ หรือรายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นแล้วแต่กรณี ตามลำดับ
คาดใช้งบประมาณ รวมทั้งสิ้น 2,670 ล้านบาท โดยปีที่ 1 (5 เดือน) จํานวน 830 ล้านบาท และปีที่ 2 (12 เดือน) จํานวน 1,840 ล้านบาท (ปีที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 และปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568) โดยให้ส่วนราชการใช้จ่ายจากงบประมาณของแต่ละส่วนราชการเป็นลําดับแรก หากไม่เพียงพอให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจําปี งบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น ตามที่ คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) เสนอ.- 515 -สำนักข่าวไทย