กรุงเทพฯ 18 ก.ย. – ธ.ก.ส.เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือชาวนา 70,000 ล้านบาท ให้ ครม.พิจารณาตุลาคมนี้ โดยช่วยแบบอัตราเดียวต่อคนต่อไร่ไม่เกิน 15 ไร่
นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ที่ประชุม ธ.ก.ส.เตรียมวงเงินดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร สำหรับฤดูการผลิตข้าวนาปี 2560/2561 ประมาณ 70,000 ล้านบาท ความช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ วงสินเชื่อเพื่อรวบรวมและแปรรูปผลผลิต อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ซึ่งปล่อยให้กับสถาบันเกษตรกร วงเงิน 23,000 ล้านบาท และเงินช่วยค่าเก็บเกี่ยวพืชผลที่จ่ายช่วยเหลือแบบให้เปล่าต่อรายต่อไร่อัตราเดียว แต่ไม่เกิน 15 ไร่ วงเงินรวม 47,000 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ 3 ล้านราย โดยการช่วยเหลือนี้ไม่ขัดกับข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) และถือเป็นความช่วยเหลือที่ใกล้เคียงกับการช่วยเหลือฤดูกาลผลิตรอบก่อนไม่เป็นภาระงบประมาณตามนโยบายนายกรัฐมนตรี และเพื่อให้ทันต่อการเก็บเกี่ยวของเกษตรกรเดือนพฤศจิกายนนี้ คาดว่าสามารถนำเสนอชุดมาตรการนี้ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเดือนตุลาคมนี้ คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรหมดภายใน 2-3 เดือน หลังได้รับความเห็นชอบ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สรุปชัดเจนว่าแนวทางช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวพืชผลฤดูกาลนี้เกษตรกรจะได้รับเป็นเงินต่อรายต่อไร่เท่าไร ต่างจากปีก่อนให้ความช่วยเหลือเป็นลักษณะขั้นบันไดตั้งแต่ 800-1,200 บาทต่อไร่ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจะให้เงินสนับสนุนเกษตรกรรายละไม่เกิน 15 ไร่เท่านั้น เนื่องจากต้องการช่วยเกษตรรายเล็กและเกษตรกรที่ปลูกข้าวทุกประเภท
สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรติดหนี้นอกระบบประมาณ 620,000 ราย จากข้อมูลการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยที่มาขึ้นทะเบียนกับ ธ.ก.ส. มี 7 ล้านราย ธ.ก.ส.ดำเนินการแล้ว 2 ปี ความช่วยเหลือแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ การให้สินเชื่อเพื่อนำไปชำระหนี้นอกระบบ ปล่อยสินเชื่อไปแล้วประมาณ 4,000 ล้านบาท จากวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ต่อปีสามารถช่วยเกษตรกร 50,000 ราย อีกกลุ่ม คือ สินเชื่อลูกหนี้นอกระบบที่เข้ามาเป็นลูกค้า ธ.ก.ส.แล้ว แต่ต้องการใช้เงินฉุกเฉินเพื่อดำรงชีพ ธ.ก.ส.เตรียมวงเงินสินเชื่อ 5,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.5-0.85 ต่อเดือน ซึ่งปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 3,000 ล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกรได้ 70,000 ราย ช่วยให้คนกลุ่มนี้ไม่หันไปขอกู้หนี้นอกระบบอีก และกลุ่มสุดท้าย คือ สินเชื่อเพื่อการส่งเสริมอาชีพแก่ลูกหนี้นอกระบบเดิมที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วและต้องการลงทุนสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เตรียมวงเงินไว้ 10,000 ล้านบาท ส่วนนี้จะเริ่มปล่อยสินเชื่อภายในเดือนกันยายนนี้ คิดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 7 (MRR-7) ต่อปี
ส่วนภาพรวมการปล่อยสินเชื่อของ ธ.ก.ส. 5 เดือนแรกของปีบัญชี 2560/2561 ซึ่งปีงบประมาณ ธ.ก.ส.เริ่มเดือนแรกในเดือนเมษายน ล่าสุดสินเชื่อใหม่ปล่อยไปแล้ว 18,000 ล้านบาท อัตราการเติบโตสินเชื่อประมาณร้อยละ 20 ของเป้าสินเชื่อ ซึ่ง ธ.ก.ส.ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อรวมไว้ที่ 86,000 ล้านบาท ด้านเงินฝากสามารถระดมเงินฝากได้แล้ว 10,000 ล้านบาท จากเป้าหมายตลอดปีนี้จะระดมเงินฝากรวม 50,000 ล้านบาท มั่นใจว่าทำได้ตามเป้าหมาย ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ล่าสุดประมาณร้อยละ 4 โดยมั่นใจว่าจะรักษาไม่ให้สูงเกินกว่านี้ได้ แม้ว่ารายได้เกษตรกรปีนี้จะยังคงทรงตัวจากปีก่อน โดยธนาคารยังไม่เห็นสัญญาณการเป็นหนี้ค้างชำระของเกษตรกร เพราะมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมามีประสิทธิภาพ ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบไม่มาก. – สำนักข่าวไทย