ชัวร์ก่อนแชร์: การกินไข่กับความเสี่ยงโรคหัวใจ (2024)

22 ตุลาคม 2567
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล


ข้อสงสัยเรื่องการบริโภคไข่กับความเสี่ยงการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ กลายเป็นประเด็นโต้เถียงมาอย่างยาวนาน เนื่องจากมีข้อสรุปที่พบว่าการกินไข่ส่งผลเสียต่อหัวใจ กินไข่ส่งผลดีต่อหัวใจ และการกินไข่ไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ ต่อโรคหัวใจ

อย่างไรก็ดี การวิจัยเกี่ยวกับการบริโภคไข่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับไข่และสุขภาพมีความชัดเจนมากกว่าการศึกษาไข่กับผลกระทบต่อโรคหัวใจในอดีตที่ผ่านมา


คอเลสเตอรอลและไขมันในไข่

แคลอรีครึ่งหนึ่งที่ได้รับจากการกินไข่ มาจากไขมันที่อยู่ในไข่แดง ไขมันในไข่แดงประมาณ 2 ใน 3 คือไขมันไม่อิ่มตัว ส่วน 1 ใน 3 คือไขมันอิ่มตัว

ไข่ไก่ทั่วไปจะมีปริมาณคอเลสเตอรอลสูงประมาณ 200 มิลลิกรัม


ในขณะที่ไข่แดงอุดมไปด้วยคอเลสเตอรอล แต่ไข่ขาวมีไขมันอยู่เพียง 0.2% และไม่มีคอเลสเตอรอลเลย

โทษของไข่แดงกับความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ?

ปี 2021 มีบทความวิชาการตีพิมพ์ทางวารสารของสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา (American Heart Association) ในหัวข้อ Cardiovascular Harm From Egg Yolk and Meat : More Than Just Cholesterol and Saturated Fat

มีการวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่สาธารณชนไม่รับรู้ถึงภัยจากอาหารที่อุดมไปด้วยคอเลสเตอรอล ส่วนหนึ่งมาจากงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนโดยอุตสาหกรรมอาหารต่าง ๆ

และมีงานวิจัยไม่น้อยที่รายงานไม่พบอันตรายจากการกินไข่หรือเนื้อแดง ซึ่งเกิดจากการทดลองกับกลุ่มอาสาสมัครที่มีอายุน้อย ซึ่งยังไม่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคไข่เท่ากับผู้สูงอายุ

งานวิจัยของหวงและคณะเมื่อปี 2020 ได้วิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคของชาวอเมริกันวัยเกษียณกว่า 4 แสนราย โดยพบว่าเมื่อกลุ่มตัวอย่างหันมากินอาหารที่เป็นโปรตีนจากพืชแทนอาหารที่เป็นโปรตีนจากสัตว์ สามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ 10% ซึ่งส่วนใหญ่คือการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ

การกินโปรตีนจากพืชแทนไข่ลดความเสี่ยงเสียชีวิตในผู้ชายได้ 24% และผู้หญิงที่ 21%

การกินโปรตีนจากพืชแทนเนื้อแดงลดความเสี่ยงเสียชีวิตในผู้ชายได้ 13% และผู้หญิงที่ 15%

ในขณะที่ไข่แดงมีคอเลสเตอรอลในปริมาณสูงถึง 237 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักไข่ 63 กรัม ในไข่แดงและเนื้อแดงยังมีส่วนประกอบสำคัญคือฟอสฟาติดิลโคลีน (Phosphatidylcholine) เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นสารพิษที่ชื่อว่าไตรเมทิลามีน เอ็น-ออกไซด์ (TMAO) ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันทั้งในสมองและหัวใจ

เมื่อปี 2019 ทีมวิจัยของหวังและคณะ พบว่าปริมาณ TMAO ในร่างกายจะลดลงอย่างมาก เมื่อกลุ่มตัวอย่างเปลี่ยนพฤติกรรมมาเน้นการกินอาหารจากเนื้อขาวและโปรตีนที่ไม่ได้มาจากเนื้อสัตว์

ทีมวิจัยจึงลงความเห็นว่า การกินอาหารจากเนื้อขาวและพืชเป็นหลัก ช่วยลดความเสี่ยงการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้อย่างมาก

กินไข่ 12 ฟองต่อสัปดาห์ไม่เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ ?

อย่างไรก็ดี งานวิจัยขนาดเล็กที่เผยแพร่ระหว่างงานประชุมประจำปีของสถาบัน American College of Cardiology เมื่อเดือนมีนาคม 2024 กลับพบว่า การกินไข่เสริมแร่ธาตุ (Fortified Eggs) มากกว่า 12 ฟองต่อสัปดาห์ ไม่เพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกาย เมื่อเทียบกับการกินไข่เพียง 2 ฟองต่อสัปดาห์

ทีมวิจัยได้ศึกษาการกินไข่กับกลุ่มตัวอย่าง 140 ราย ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 66 ปี และมีประวัติป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจหรือมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น ความดันเลือดสูง ไขมันส่วนเกิน น้ำหนักเกิน และโรคเบาหวาน

จากนั้นจึงแบ่งเป็นกลุ่มที่กินไข่เสริมแร่ธาตุ 12 ฟองหรือมากกว่าต่อสัปดาห์ และกลุ่มที่กินไข่ 2 ฟองหรือน้อยกว่าต่อสัปดาห์ เมื่อผ่านไป 4 เดือน จะนำระดับคอเลสเตอรอล HDL (High-Density Lipoprotein : ไขมันชนิดดี) และ LDL (Low-density Lipoprotein : ไขมันชนิดไม่ดี) ของทั้ง 2 กลุ่มมาเปรียบเทียบกัน รวมถึงตรวจสอบระดับการเผาผลาญที่ส่งผลต่อหัวใจ ค่าความอักเสบของหัวใจ และระดับแร่ธาตุและวิตามินในร่างกาย

เมื่อผ่านไป 4 เดือนพบว่า กลุ่มที่กินไข่เสริมแร่ธาตุ 12 ฟองต่อสัปดาห์หรือมากกว่า มีคอเลสเตอรอล HDL และ LDL ไม่แตกต่างจากกลุ่มที่กินไข่ไม่เกิน 2 ฟองหรือน้อยกว่าต่อสัปดาห์

นอกจากนี้ ยังพบว่าค่าความอักเสบของหัวใจและระดับความดื้ออินซูลินลดลง แต่ระดับของวิตามินบีเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี เว็บไซต์ EurekAlert! ของสมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อเมริกัน (AAAS) เตือนว่า ผลวิจัยนอกจากจะจำกัดด้วยขนาดกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดเล็กแล้ว ผลวิจัยยังพึ่งพาข้อมูลการบริโภคไข่ที่บอกโดยกลุ่มตัวอย่างเท่านั้น และเป็นการวิจัยที่มีกลุ่มควบคุมแต่ไม่มีการสุ่ม ซึ่งอาสาสมัครรู้ว่าตนเองอยู่ในกลุ่มทดลองหรือกลุ่มควบคุม ซึ่งอาจส่งผลต่อพฤติกรรมของอาสาสมัครได้

นอกจากนี้ งานวิจัยยังได้รับทุนจากบริษัท Eggland’s Best บริษัทผู้ผลิตไข่ชั้นนำของโลกอีกด้วย

งานวิจัยชิ้นนี้ยังอยู่ในสถานะ Pre Print ซึ่งเจ้าของงานวิจัยย้ำว่า จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อยืนยันประโยชน์ของการกินไข่เสริมแร่ธาตุกับการลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ

ไข่ขาวปลอดภัย-ไข่แดงอันตราย?

งานวิจัยปี 2021 นำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้สำรวจพฤติกรรมการกินอาหารของชาวอเมริกันกว่า 5 แสนคน เพื่อหาความเชื่อมโยงระหว่างการกินไข่ ปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยให้อาสาสมัครระบุพฤติกรรมการกินไข่ และติดตามผลเป็นเวลา 16 ปี

ทีมวิจัยพบความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการบริโภคไข่ และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากโรคหัวใจและโรคมะเร็ง แต่กลับพบว่ากลุ่มที่กินแต่ไข่ขาว ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตกลับลดลง

ทีมวิจัยพบว่า คอเลสเตอรอลจากอาหาร 300 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณที่พบในไข่ขนาดกลางจำนวน 1 ฟองครึ่ง เพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิต 19% โดยแบ่งเป็นความเสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ 16% และเพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง 24%

ทีมวิจัยจึงแนะนำให้ผู้บริโภคไข่ทั้งฟอง เปลี่ยนมากินไข่ขาวในปริมาณที่เท่ากัน หรือพึ่งพาแหล่งโปรตีนจากอกไก่ ปลา และถั่ว เพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคต่าง ๆ

อย่างไรก็ดี บทความจากเว็บไซต์ของมูลนิธิ British Heart Foundation เตือนว่า ผลวิจัยดังกล่าวยังมีข้อบกพร่อง เนื่องจากเป็นการเก็บข้อมูลการบริโภคอาหารที่อ้างอิงจากกลุ่มตัวอย่างโดยตรง ซึ่งขาดความน่าเชื่อถือ และไม่มีการรับประกันว่าในช่วง 16 ปีที่เก็บข้อมูล กลุ่มตัวอย่างจะยังคงมีพฤติกรรมการกินเหมือนเดิมหรือไม่

นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังเป็นการวิจัยชนิดสังเกตการณ์ที่อธิบายความเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมการกินและการเสียชีวิต แต่ไม่อาจยืนยันได้ว่าพฤติกรรมการกินเหล่านั้นคือสาเหตุของการเสียชีวิตอย่างแท้จริงหรือไม่ เนื่องจากมีปัจจัยและตัวแปรอีกหลายอย่างไม่ได้ถูกนำมาพิจารณา

ตัวแทนของ British Heart Foundation จึงแนะนำว่า พฤติกรรมการกินที่ส่งผลต่อสุขภาพของหลอดเลือดและหัวใจ คือการกินอาหารอย่างหลากหลาย และมีความสมดุลระหว่างคุณค่าทางโภชนาการ มากกว่าการให้ความสำคัญต่ออาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น “ไข่” เพียงชนิดเดียว

ภัยต่อสุขภาพของการกินไข่ ?

บทความจากเว็บไซต์ The Nutrition Source โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ได้เปรียบเทียบประโยชน์และความเสี่ยงจากการกินไข่ จากปริมาณคอเลสเตอรอลที่ได้รับในแต่ละวัน

โดยย้ำว่า แม้ไข่ไก่ทั่วไปจะมีปริมาณคอเลสเตอรอลสูงถึง 200 มิลลิกรัม แต่ไขมันส่วนใหญ่คือไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวและเชิงซ้อน ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายน้อยกว่าไขมันอิ่มตัวที่อยู่ในเนื้อสัตว์

นอกจากนี้ ไข่ยังมีสารอาหารที่ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจอีกด้วย

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แนะนำว่า การกินไข่วันละฟองไม่เพิ่มความเสี่ยงการป่วยด้วยโรคหัวใจ แต่หากกินมากกว่าวันละฟองอาจเพิ่มความเสี่ยงได้

มีงานวิจัยพบความเสี่ยงโรคหัวใจในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่กินไข่มากกว่าวันละ 1 ฟอง จึงแนะนำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานกินไข่แดงไม่เกินสัปดาห์ละ 3 ฟอง

ส่วนผู้ที่มีปัญหาในการควบคุมระดับคอเลสเตอรอล LDL ให้เปลี่ยนไปบริโภคไข่ขาวเป็นหลัก

นอกจากนี้ บทบาทของการบริโภคไข่ต่อสุขภาพ ยังต้องพิจารณาจากอาหารที่กินร่วมกับไข่ หรืออาหารที่ถูกนำมาทดแทนการกินไข่

ในอาหารเช้าที่มีไข่เจียว เสิร์ฟพร้อมชีส ไส้กรอก มันฝรั่งทอด และ ขนมปังขาว ย่อมส่งผลเสียต่อระบบหลอดเลือดหัวใจมากกว่า อาหารเช้าที่มีไข่เจียว เสิร์ฟพร้อมสลัดและขนมปังจากธัญพืชเต็มเมล็ด

มีอาหารมากมายที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าไข่ ทั้ง ซีเรียลจากธัญพืชขัดสีเคลือบน้ำตาล หรือ แพนเค้กกับน้ำเชื่อม กระนั้น ก็ยังมีอาหารอีกมากมายที่ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจน้อยกว่าไข่หรือเนื้อแดง ทั้ง ธัญพืชเต็มเมล็ด ผลไม้ โปรตีนจากพืชและถั่ว

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด จึงแนะนำให้บริโภคไข่แต่พอประมาณ และพึ่งพาโปรตีนจากพืชเป็นหลัก

ตัวแปรของการกินไข่กับสุขภาพ

ในปี 2023 มีงานวิจัยเชิงวิเคราะห์อภิมานและการปริทัศน์อย่างเป็นระบบ (Systematic Review and Meta-analyses) ที่ศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคไข่และโรคหลอดเลือดหัวใจนำเสนอทางวารสาร Current Atherosclerosis Reports ในหัวข้อ Eggs and Cardiovascular Disease Risk : An Update of Recent Evidence

ทีมวิจัยพบว่าระหว่างปี 2019-2022 งานวิจัยเกี่ยวกับการบริโภคไข่และโรคหลอดเลือดหัวใจส่วนใหญ่เป็นการวิจัยแบบสังเกตการณ์ ซึ่งผลสรุปมีทั้งที่พบว่าการบริโภคไข่เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ การบริโภคไข่ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือการบริโภคไข่ไม่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจเลย

โดยพบว่างานวิจัยส่วนใหญ่ ยังขาดการควบคุมตัวแปรที่อาจส่งผลต่อการบริโภคไข่และโรคหลอดเลือดหัวใจ ทั้งการควบคุมการกินไข่ร่วมกับอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว วิธีการทำอาหารจากไข่ วิธีการเลี้ยงและให้อาหารแม่ไก่

โดยพบว่ามีงานวิจัยเพียง 37% ที่ควบคุมระดับการบริโภคผัก 20% ควบคุมระดับการบริโภคเนื้อแดง 6% ควบคุมระดับการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูป

ส่วนในหมวดงานวิจัยแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม มีงานวิจัย 23 ชิ้นที่ไม่พบว่า การบริโภคไข่เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ

งานวิจัย 28 ชิ้นพบว่า การบริโภคไข่มาก ทำให้ระดับคอเลสเตอรอล HDL และ LDL เพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับการกินไข่น้อย แต่กระนั้น สัดส่วนระหว่างคอเลสเตอรอล HDL และ LDL หรือไตรกลีเซอไรด์ (Trigleceride) ก็ไม่แตกต่างกัน

งานวิจัย 8 ชิ้นไม่พบความแตกต่างระหว่างระดับไขมันในเลือดและความดันเลือด ระหว่างกลุ่มตัวอย่างที่กินไข่มากกว่า 4 ฟองต่อสัปดาห์ และกลุ่มตัวอย่างที่กินไข่น้อยกว่า 4 ฟองต่อสัปดาห์

และยังมีงานวิจัย 2 ชิ้นที่พบว่าการบริโภคไข่อย่างต่อเนื่องลดความเสี่ยงความดันเลือดสูงอีกด้วย

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพบว่า วัฒนธรรมการบริโภคไข่ของชาติตะวันตกและเอเชีย อาจส่งผลต่อความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจเช่นกัน

ขณะที่ชาวตะวันตกนิยมบริโภคไข่ร่วมกับเนื้อแดงและเนื้อแปรรูป ซึ่งอุดมไปด้วยไขมันอิ่มตัวซึ่งส่งผลเสียต่อหัวใจ

ชาวเอเชียมักนิยมบริโภคไข่ร่วมกับผักต่าง ๆ

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจจากการกินไข่จากงานวิจัยในฝั่งตะวันตก อาจมาจากพฤติกรรมการบริโภคไข่ร่วมกับอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงของชาวตะวันตก และไม่ได้เกิดจากการบริโภคไข่โดยตรง

ดังนั้น พฤติกรรมการกินอาหารเพื่อเลี่ยงความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ควรให้ความสำคัญกับองค์ประกอบโดยรวมของอาหารแต่ละมื้อ มากกว่าเน้นที่อาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือการกิน “ไข่” เพียงอย่างเดียว

ข้อมูลอ้างอิง :

https://www.ahajournals.org/doi/10.1161/JAHA.120.017066
https://www.bhf.org.uk/informationsupport/heart-matters-magazine/news/behind-the-headlines/egg-risks
https://www.eurekalert.org/news-releases/1039195
https://nutritionsource.hsph.harvard.edu/food-features/eggs/
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC10285014/

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ยึดรถบอสดิไคอน

ตำรวจยึดรถ “บอสพอล-บอสกันต์” เพิ่มเติมรวม 4 คัน

ตำรวจยึดรถ “บอสพอล-บอสกันต์” เพิ่มเติมรวม 4 คัน ขณะที่พนักงานสอบสวนชุดเล็กประชุมสรุปรายงานผลการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เตรียมรายงานคณะทำงานชุดใหญ่พรุ่งนี้

ระเบิดสะพานโจร

“ระเบิดสะพานโจร” ทำลายสายส่งเคเบิลขนาดใหญ่ ลักลอบพาดสายบนสะพานข้ามโขง

กสทช. จับมือตำรวจ สานต่อยุทธการ “ระเบิดสะพานโจร” ทำลายสายส่งเคเบิลขนาดใหญ่ ลักลอบพาดสายบนสะพานข้ามโขง อย่างอุกอาจ เอื้อแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ว.วชิรเมธี

พระพยอมชี้ ท่าน ว.วชิรเมธี นั่งบนหิมะ ไม่ผิดวินัยสงฆ์

เพจดังลงภาพท่าน ว.วชิรเมธี นั่งสมาธิบนหิมะที่ญี่ปุ่น ด้านพระพยอมชี้ ไม่ผิดวินัยสงฆ์ คิดว่าท่าน ว.วชิรเมธี คงอยากทดสอบความอดทน

ข่าวแนะนำ

อุตุฯ เผยเหนือตอนล่าง-กลาง-ตอ.-ใต้ตอนบน ฝนตกหนัก

กรมอุตุฯ เผยภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ส่วนกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง 70% และมีฝนตกหนักบางแห่ง

ลุ้นระทึก ย้าย “พลายดอกแก้ว” สู่บ้านหลังใหม่

ลุ้นระทึก! เคลื่อนย้าย “พลายดอกแก้ว” ช้างกำพร้า ไปอยู่บ้านหลังใหม่ ซึ่งเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะจังหวะ “พลายดอกแก้ว” พังเหล็กกั้นรถออกมา ใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมง จึงนำช้างขึ้นรถได้

เร่งสางคดีอุ้มปล้นทรัพย์ 2 นักธุรกิจจีน 4 ล้านบาท

คดี 5 คนร้ายอุ้มปล้นทรัพย์ 2 นักธุรกิจชาวจีน รีดเงินกว่า 4 ล้านบาท ในซอยรัชดาฯ 24 เมื่อ 3 วันก่อน ตำรวจเชื่อมีการลวงให้เหยื่อเตรียมเงินสดไว้ ก่อนปฏิบัติการปล้นทรัพย์อุกอาจกลางกรุง พุ่งเป้าอดีตภรรยา ซึ่งรู้เห็นเกี่ยวข้องในธุรกิจที่ผู้เสียหายทำอยู่

ทองไทยไปลิ่วนิวไฮอีก ตามตลาดโลก-บาทอ่อนค่า

ราคาทองคำไทยในประเทศสร้างสถิติสูงสุดรอบใหม่ (All-Time High) ตามราคาทองคำตลาดโลกและบาทอ่อนค่า ทองรูปพรรณ ขายออกบาทละ 43,750 บาท