มติวุฒิสภาให้ใช้เสียงลงมติ 2 ชั้นแก้ รธน.

รัฐสภา 30 ก.ย.- วุฒิสภามีมติแก้ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ให้ใช้เสียงลงมติ 2 ชั้นแก้รัฐธรรมนูญ สวนร่าง สส. ที่ใช้เสียงข้างมาก ด้าน กมธ.เสียงข้างน้อยห่วงแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับไม่ทันสภาชุดนี้ และทำประชามติไม่ทันช่วงเลือก อบจ. ส่งผลเสียงบเพิ่มอื้อ


การประชุมวุฒิสภาวันนี้มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภาเป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ประเด็นที่มีการอภิปรายกันมากคือมาตรา 13ได้ปรับแก้ไขร่างกฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์การออกเสียงประชามติ ที่จะถือมีข้อยุติในมาตราที่ 13 จากเดิมที่ให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมาก ต้องสูงกว่าคะแนนเสียงงดออกเสียงในเรื่องที่จัดการออกเสียงประชามตินั้น ๆ แต่กรรมาธิการมาแก้เป็นว่า การจัดการออกเสียงประชามติที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ จะต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียง เป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น หรือ Double Majority เสียงข้างมาก 2 ชั้น

นางสาวนันทนา นันทวโรภาส สว. ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปราย คัดค้านมติของกรรมาธิการเสียงข้างมากโดยระบุว่า ตลอดการประชุมกรรมาธิการฯ 4 ครั้งแรก คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากต่างพูดถึงข้อข้อดีและประโยชน์แนวทางของการลงมติชั้นเดียวอย่างชัดเจน แต่ในการประชุมครั้งที่ 5 กลับมีการเสนอให้ที่ประชุมทบทวนมติ ในการประชุมครั้งที่ 4 และน่ามหัศจรรย์ ใจที่ สว.เห็นชอบให้แก้ไขในมาตรา 13 ให้การทำประชามติรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น คือ ต้องให้มีผู้มาใช้สิทธิ์มากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และเป็นที่สังเกตว่า ในวันอังคารที่ 24 ก.ย. มีนักการเมืองท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตรงนี้เป็นเหตุให้มีการกลับมติหรือไม่ การกลับมติโดยพร้อมเพียงกัน 17 ต่อ 1 เสียงมันไม่งาม เดี๋ยวชาวบ้านจะนินทาว่าการลงมตินี้เป็นไปตามใบสั่ง


นางสาวนันทนา ดังนั้นตนในฐานะกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อยขอปกป้องสิทธิในการอภิปรายให้สว. และประชาชน ทราบว่า
การเลือกตั้งทุกประเภทในประเทศไทยใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว เหตุใดจึงไม่ใช้มาตรฐานเดียวกับการเลือกตั้งทั่วไปทุกประเภท ซึ่งการทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับปี 2550 และปี 2559 ก็ใช้มติชั้นเดียวก็ผ่านมาโดยปกติ ไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนกติกาใดๆและการทำประชามติเกือบร้อยประเทศในโลกนี้ก็ใช้มติชั้นเดียว และการทำประชามตินั้นควรเป็นเรื่องที่ง่าย ประชาชนเข้าถึงได้ไม่ซับซ้อน ไม่จำเป็นจะต้องระดมคนกันมาทั้งประเทศ จึงจะใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวในทุกการทำประชามติ จึงอยากให้การทำประชามติเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนเข้าถึงได้เหมือนกันเลือกตั้งทุกประเภทและเราจะสามารถหาข้อยุติในความขัดแย้งหลายๆเรื่องว่าเสียงข้างมากของประชาชนต้องการอะไร โดยที่ไม่ต้องมาลงถนนกัน และการทำประชามติแบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น จะทำให้คนไม่ออกมาใช้สิทธิมีอำนาจเหนือคนที่ออกมา หากคนไม่อยากให้ประชามติผ่านก็แค่ไม่ออกมาจากบ้านเท่านั้นจึงง่าย ทำให้คนไม่ออกมาและการทำประชามตินั้นจะไม่สำเร็จ

นางสาวนันทนา กล่าวด้วยว่าหากวุฒิสภาไม่เห็นชอบตามร่างของสภาผู้แทนราษฎร จะถือเป็นการหน่วงเวลาให้ยืดเยื้อและในที่สุดไม่สามารถทำประชามติ พ่วงกับการเลือก อบจ.ได้ จะทำให้เราต้องเสียงบประมาณมากเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว หลายพันล้านบาทในการทำมติแบบเดี่ยวๆ ซึ่งสว.ก็จะตกเป็นจำเลยของสังคมในการถ่วงเวลาและใช้งบประมาณอย่างสิ้นเปลือง จึงขอเรียกร้องให้สว.แสดงความกล้าหาญในการตัดสินใจด้วยวิจารณญาณของตัวเองโดยไม่ต้องเกรงอำนาจอิทธิพลใดๆ โดยตัดสินใจโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง อย่าทำตัวเป็นสวความจำสั้นเมื่อ 27 สิงหาคมณที่ประชุมสภาแห่งนี้ได้ลงมติรับร่างพ.ร.บ.นี้ในวาระหนึ่งอย่างท่วมท้นถึง 179 เสียง หวังว่ายังจำได้

“รัฐธรรมนูญที่มีปัญหาย่อมนำมาซึ่งการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ การเมืองที่ไร้เสื่อมสภาพย่อมนำมาซึ่งเศรษฐกิจที่ล้มเหลว การแก้รัฐธรรมนูญ คือคำตอบของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เรามาช่วยกันปลดล็อก พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อเป็นหินก้อนแรกที่จะสร้างถนนแห่งประชาธิปไตยกันเถอะค่ะ” น.ส.นันทนา กล่าว


นายกฤช เอื้อวงศ์ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยการแก้ไขของกรรมาธิการฯ และเห็นควรให้กลับไปใช้ตามร่างของสภาผู้แทนราษฎรที่ ให้ใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากโดยที่ จะต้องมีเสียงมากกว่า งดออกเสียงลงคะแนน และการทำประชามติ 2 ชั้นมักจะใช้กับประเทศที่มีหลายรัฐและที่ผ่านมาประเทศไทยก็ใช้การลงมติแบบชั้นเดียวมาก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร และตอนรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ยังใช้การทำประชามติชั้นเดียวดังนั้น ควรใช้มติชั้นเดียวเหมือนกับที่มาของรัฐธรรมนูญปี 60 และการลงมติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาก็ใช้การทำประชามติแบบชั้นเดียว โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกันเสียงข้างมากธรรมดาและหากเทียบตัวอย่าง งบประมาณที่ใช้ในการออกเสียงประชามติแต่ละครั้ง 3,000 กว่าล้านจะทำให้สูญเปล่า

นายนิกร จำนง กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ไปใช้ Double majority ในการลงมติ เพราะถือว่าเป็นการแก้ไขหัวใจสำคัญที่สุด และหากดูเงื่อนเวลาแล้วจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ทันในสภาชุดนี้แน่ และอยากถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งที่เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบาย ของรัฐบาลที่แล้วและรัฐบาลนี้ด้วย ดังนั้นตนจึงขอเสนอความเห็นต่อที่ประชุมว่า ณ ขณะนี้แม้ว่าจะโหวตตามที่แก้มาแต่สุดท้าย ก็จะกลับไปที่สภาผู้แทนราษฎรหากไม่เห็นชอบก็ต้องกลับมาที่กรรมาธิการร่วม2 สภา ถึงตรงนั้นก็คงต้องหาทางออกร่วมกัน 2 สภา ซึ่งประเด็นปัญหาไม่ได้อยู่ที่พรรคการเมืองไหนแต่อยู่ที่เราจะมี รัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนใน ยุคของเรา

นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. อภิปรายยืนยันว่าไม่มีการเตะถ่วงแต่เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะคนไทยเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเท่านั้น ซึ่งในการ ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญหากดูจำนวนเสียงเห็นชอบแล้ว แม้ใช้การทำประชามติ 2 ชั้น ก็ยังผ่าน เพราะประชาชนมาลงคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งและให้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง แต่ที่ตนเห็นในข่าวกำลังแก้เรื่องจริยธรรมนักการเมือง อยากถามว่าเห็นว่าถูกต้องหรือไม่ แล้วเกี่ยวอะไรกับประชาชน

หลังจากอภิปรายกันอย่างกว้างขวางแล้วที่ประชุมมีมติให้เห็นชอบตามคณะกรรมาธิการฯแก้ไข ด้วยคะแนนเสียง160 ต่อ 21 เสียงงดออกเสียง 9 เสียง เท่ากับกลับไปใช้ การลงมติแบบ 2 ชั้น ซึ่งเป็นการแก้ไข ร่างของสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติที่แก้ไขแล้วด้วยคะแนน 163 ต่อ 19 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ไม่ลงคะแนน 2เสียง ทั้งนี้ เมื่อมีการแก้ไขเช่นนี้จะต้องส่งกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา เพื่อหาข้อยุติต่อไป.-312 -สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ฆ่าจระเข้

เจ้าของฟาร์มเศร้าตัดใจฆ่าจระเข้ 125 ตัว ห่วงน้ำท่วมทำหลุดบ่อ

สุดเศร้า! เจ้าของฟาร์มตัดใจฆ่าจระเข้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ 125 ตัว เหตุกลัวน้ำท่วมทำหลุดบ่อ หลังฝนตกหนักในพื้นที่ จ.ลำพูน

น้ำป่าทะลักท่วมชุมชน ป่าช้า-เมรุเผาศพ จ.ชัยภูมิ

น้ำป่าจากเทือกเขาภูแลนคา ทะลักท่วม 6 ชุมชน เมืองชัยภูมิ ป่าช้า เมรุเผาศพ สุสานชาวจีน จมน้ำมากว่า 3 วันแล้ว เจ้าหน้าที่เร่งสูบน้ำตลอด 24 ชม.

ข่าวแนะนำ

“บิ๊กต่อ“ ทิ้งท้ายเกษียณ ขอตำรวจตั้งใจทำงาน ส่วนตัวขอพักผ่อน

“บิ๊กต่อ” ทิ้งท้ายอายุเกษียณราชการ “งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา” จากนี้ขอให้ตำรวจตั้งใจทำงาน ส่วนตนขอพักผ่อน