บ.โทรคมนาคมแห่งชาติ 6 ก.ย.- นักวิชาการ มองบทบาทประชาชน คือ ปัจจัยที่จะทำให้ประชาธิปไตยมีความยั่งยืน ชี้ การใช้ กม.ยุบพรรคต้องรอบคอบ พร้อมตั้งคำถาม ยุบแล้วลบอุดมการณ์ทางการเมืองได้จริงหรือ ขณะที่การเปิดช่องทางให้ ปชช.เข้าถึงข้อมูล นำไปสู่การพัฒนาระบบการเลือกตั้ง ยกระดับมาตรฐานทางการเมือง
นักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูงรุ่นที่ 14 (พตส.14) จัดปาฐกถาและการนำเสนอยุทธศาสตร์เชิงปฏิบัติการต่อสาธารณะ โดยมีนายธงทอง จันทรางศุ ศาสตราภิชาน ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาเรื่อง “ประชาธิปไตยฐานรากกับการสร้างพรรคการเมืองของประชาชน”
นายธงทอง กล่าวถึง พรรคการเมืองกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่หลายประเทศและคนส่วนใหญ่ศรัทธาว่าเป็นระบบการปกครองที่มีส่วนเสียน้อยที่สุด ตนไม่สามารถบอกได้ว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นมีความเพอร์เฟค แต่สามารถที่จะพัฒนาและสามารถที่จะติชม แก้ไขจุดอ่อนและแสวงหาความเจริญงอกงามขึ้นจากสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และส่งเสริมให้ก้าวหน้าได้เมื่อเทียบกับระบอบการปกครองอื่น
นายธงทอง กล่าวว่า ปัจจัยที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยมีความยั่งยืนได้ คือบทบาทของประชาชน ซึ่งคำว่าพลเมือง คือผู้ที่เป็นกำลังของบ้านเมือง วิธีประชาธิปไตยต้องทำให้ประชาชนแอคทีฟและมีช่องทางในการแสดงความคิดเห็นได้ แต่รัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยก็ได้พูดถึงเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งหากทุกคนไม่แสดงความคิดเห็นก็คงเดินหน้าไปไม่ได้ แต่ก็ต้องมีกรอบกติกาที่พอเหมาะ
พรรคการเมืองเป็นการรวบรวมความเห็นประชาชนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ในรัฐธรรมนูญ มีทั้งระบบบัญชีรายชื่อและแบ่งเขต ซึ่งระบบบัญชีรายชื่อนั้นเป็นความเชื่อมโยงสำคัญกับการมีพรรคการเมือง ทำให้การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน ถึงเรื่องของนโยบายของแต่ละพรรค และพรรคการเมืองหลายพรรคสามารถเติบโตได้อย่างชัดเจนและบางพรรคกลับเสียสัดส่วนในระบบบัญชีรายชื่อลงไปเช่นกัน ทำให้เห็นว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายและท่าทีทางการเมือง ในการเสริมสร้างพัฒนาการของพรรคการเมือง แต่หากยกระบบพรรคการเมืองออกไป สภาก็คงวุ่นวายมากพอสมควร เพราะพรรคการเมืองนั้น สามารถควบคุมเสียงได้ ทุกอย่างจะเป็นระบบ เช่น การแบ่งคณะกรรมาธิการชุดต่างๆในสภา
นายธงทอง เห็นว่าการยุบพรรคการเมืองควรเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ และต้องมีเหตุผลอย่างยิ่งยวด อย่าลืมว่าเหตุผลการยุบพรรคจะเป็นการปิดสวิสต์ความเห็นของคนจำนวนมากที่ร่วมอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งการปิดสวิตช์นั้นจะมีน้ำหนักเพียงพอหรือไม่
“คิดว่าบ้านเรายุบพรรคการเมือง 2-3 พรรคใหญ่ จึงต้องตั้งคำถามว่า สุดท้ายแล้วทำให้เกิดผลอะไรสามารถไปลบอุดมการณ์ทางการเมืองได้จริงหรือไม่ ซึ่งทุกคนจะต้องใช้ดุลยพินิจตัดสินใจ การที่กรรมการบริหารพรรคทำผิด แต่การยุบพรรคการเมืองเป็นการริดรอนสิทธิ์ของประชาชนที่เลือกตั้งในอุดมการณ์นั้นใช่หรือไม่ และการใช้กฎหมายในเรื่องนี้ควรมีความรอบคอบมาก ถ้าพรรคการเมืองใดถูกปฏิบัติด้วยความไม่เป็นธรรม ก็จะทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น” นายธงทอง กล่าว
ขณะที่การวิพากษ์ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง” โดยนายธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย และนายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
นายยุทธพร กล่าวว่า การเมืองในยุคดิจิทัลนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสท้าทาย คือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยอยู่ในโลกใบเก่า และติดเกาะอยู่และการข้ามไปสู่โลกใบใหม่ สะพานเชื่อมนั้นก็คือเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งไม่ใช่เทคโนโลยีในทางกายภาพ แต่นวัตกรรมทางความคิดและนวัตกรรมทางประชาธิปไตยก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโลกใบใหม่ให้สังคมการเมืองไทยในอนาคต ขณะที่เรื่องพรรคการเมือง ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะเชื่อมต่อประชาชนเข้ากับระบบการเมือง ที่จะต้องสร้างความเป็นสถาบันทางการเมืองและการเกิดพรรคที่มีฐานมาจากมวลชน
นายยุทธพร กล่าวว่า ประเทศไทยคล้ายกับหลายประเทศในโลกที่เผชิญ กับความเปลี่ยนแปลงใน 3 กระแสใหญ่ คือ
1.เรื่องโครงสร้างประชากร ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งคนแต่ละรุ่นก็จะมีทัศนคติค่านิยมความคิดความเชื่อทางการเมืองและสังคมที่แตกต่างกันไป ตามบริบทแต่ละยุคแต่ละสมัย ดังนั้นการออกแบบการเลือกตั้ง กระบวนการเรื่องการเมืองยุคดิจิทัล การสร้างเครื่อฃ่ายประชาสังคม และตัวพรรคการเมือง ก็ต้องมีการปรับตัว อย่าลืมว่าความสำเร็จที่จะทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมโปร่งใส จำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยการขับเคลื่อนร่วมกันคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง พรรคการเมือง และประชาชน
2.ภาวะดิสรัพ (Disrupt) ในหลายเรื่อง ทั้งทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สงครามความขัดแย้ง ซึ่งจะเข้ามาท้าทายระบบการเมืองไทย ซึ่งเราก็ต้อง กลไกในการคัดสรรบุคลากรทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพเข้าสู่การเมืองเพื่อไปตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้
3.เรื่องของความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้มุมมองความคิดทางการเมืองของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป
“ขณะที่การปรับตัว สิ่งสำคัญ คือต้องมีพื้นที่สาธารณะ เพื่อตอบโจทย์คนทุกกลุ่มให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ และต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายในการสอดรับตอบสนองที่ทันสมัยและรวดเร็ว ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือยุทธศาสตร์การพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่จะฝากไว้ให้คิดเทคโนโลยีเทคโนโลยี หรือการเมืองยุคดิจิทัล คือคำตอบเดียวของประชาธิปไตยหรือไม่ ซึ่งเทคโนโลยีไม่ได้บอกว่าจะทำให้พรรคการเมืองเติบโตหรือก้าวหน้าอย่างเดียว แต่อาจจะทำให้พรรคการเมืองถดถอยได้เช่นกัน” นายยุทธพร กล่าว
นายยุทธพร กล่าวว่า กฎหมายเลือกตั้งของประเทศไทย มุ่งไปสู่การสร้างความเสมอภาคของผู้สมัครและพรรคการเมือง สุดท้ายเต็มไปด้วยข้อกำหนดมากมาย ซึ่งถูกหยิบจับมาใช้เป็นเกมทางการเมืองของคู่แข่งขัน ดังนั้น วันนี้จะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรี รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน
ด้านนายธนพร กล่าวว่า ความเข้าใจคือพื้นฐานที่สำคัญของการเมือง และหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญของเราเกิดขึ้นได้จริง ก็จะนำมาสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ทันสมัยและสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสังคม ซึ่งพรรคการเมืองได้ปรับตัวไปตามสังคมที่เปลี่ยนไป ยกตัวอย่าง พรรคสีส้ม มีการเซ็ตระบบการทำงานสัมพันธ์กับสังคม ผ่านทางโซเชียลฯในรูปแบบต่างๆ ถือเป็นบทบาทการให้ความรู้กับสังคม ในทฤษฎีที่หลากหลาย ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง และคุณภาพของการทำงาน แม้ในบทบาทของฝ่ายค้าน ที่ทำการบ้านและการอภิปรายได้ดี
สิ่งสำคัญอีกเรื่อง คือ การเปิดช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างเปิดกว้างและง่าย จะนำไปสู่การพัฒนาระบบการเลือกตั้งยกระดับมาตรฐานทางการแข่งขันทางการเมืองให้สูงขึ้น และอย่าไปกลัวว่าพวกนักร้อง เพราะเป็นการทำตามช่องทางตามกฎหมาย.-315 สำนักข่าวไทย