กรุงเทพฯ 1 ก.ย. – สนข.แจงระบบตั๋วร่วมหรือบัตรแมงมุมจะมีรถไฟฟ้าเข้าร่วมไม่เกิน 6 เดือนข้างหน้า และล่าสุดเนื้อหอมมีเอกชนทั้งแบงก์ใหญ่-ร้านสะดวกซื้อเจรจาพร้อมร่วมธุรกิจ
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาระบบต๋วร่วมหรือบัตรแมงมุม ซึ่งสัปดาห์นี้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว ระยะเริ่มต้นจะครอบคลุมผู้ใช้บริการรถเมล์ทุกเส้นทางและเชื่อมโยงข้อมูลกับบัตรผู้มีรายได้น้อยที่มีผู้เข้าร่วมโครงการสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 11 ล้านคน ว่า ภายหลังระบบตั๋วร่วมผ่านการอนุมัติจาก ครม.จะทำให้บริษัทเอกชนผู้เดินรถให้บริการรถไฟฟ้าทั้งบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินมีความมั่นใจพร้อมเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากมติ ครม.มีการมอบหมายการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถ่ายโอนงานฐานข้อมูลและเป็นผู้จัดการงานของบริษัทจัดแบ่งรายได้หรือเคลียร์ริ่งเฮ้าส์เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการเดินรถแต่ละราย เกิดความชัดเจนทั้งในแง่ของกฎหมายและผู้รับผิดชอบ
ขณะเดียวกันเชื่อว่าผู้ประกอบการทุกรายจะเห็นว่าการเข้าร่วมระบบตั๋วร่วมจะทำให้ตัวเองมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และจากการหารือที่ผ่านมาผู้ประกอบการทุกรายวางระบบเบื้องต้นแล้ว ดังนั้น ไม่เกิน 6 เดือน เชื่อว่าจะเห็นผู้ประกอบการรถไฟฟ้าเชื่อมโยงการบริการกับบัตรแมงมุมแน่นอน เริ่มจากติดตั้งระบบอ่านบัตรบางส่วนในพื้นที่สถานี เช่น ช่องทางที่ผู้โดยสารเข้าสู่สถานี เพื่อตรวจบัตรโดยสารจะมีการนำร่องใช้ 2 ช่องทาง ที่ตรวจผ่านตั๋วแมงมุมได้ ก่อนขยายเต็มรูปแบบในอนาคต
นอกจากนี้ การพัฒนาบัตรแมงมุมนอกจากระบบรถเมล์ทุกเส้นทาง รถไฟฟ้า ในอนาคตจะรวมระบบเรือโดยสาร ทางด่วน ที่จะเข้าร่วมด้วย ขณะนี้ยอมรับว่ามีเอกชนหลายรายสนใจเข้าร่วมธุรกิจ เพื่อเชื่อมโยงกับบัตรแมงมุมเพื่อต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน ซึ่งมีธนาคารบางแห่งต้องการเชื่อมโยงบริการบัตรเดบิตกับบัตรแมงมุม อย่างไรก็ตาม จะต้องหารือความร่วมมือต่อไป เนื่องจากการเข้าสู่ระบบจะมี 2 ลักษณะ คือ เฉพาะเชื่อมโยงข้อมูลในบัตรหรือเป็นผู้ออกบัตรเองด้วย ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับระบบเคลียร์ริ่งเฮ้าส์ และต้องรอการวางระบบร่วมกันอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้อก็ให้ความสนใจร่วมบัตรแมงมุม
วันนี้ สนข.ยังได้จัดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้ง 1 โครงการสำรวจความต้องการการเดินทางและปรับปรุงฐานข้อมูลการเคลื่อนย้ายสินค้า เพื่อวางแผนระบบขนส่ง โดย ผอ.สนข.ระบุว่าการจัดทำข้อมูลการเคลื่อนย้ายผู้โดยสารระบบขนส่งธารณะและสินค้าจะมีความสำคัญต่อการวางแผนพัฒนาระบบขนส่งเหมือนในอดีตที่ผ่านมาที่พบว่าประชาชนต้องการใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น จึงพัฒนาระบบรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง เพื่อตอบสนองความต้องการส่วนนี้และหลังจากโครงการระบบรถไฟฟ้าเส้นทางต่าง ๆ พัฒนาจนเสร็จ สนข.ตั้งเป้าหมายว่าภายในไม่น้อย 4-5 ปีข้างหน้าจะมีประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมจากการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลไปสู่การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ จากเดิมมีเพียงร้อยละ 8-9 ไปไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศทั้งการลดใช้พลังงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดอุบัติเหตุ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการด้านเวลาการเดินทาง ซึ่งทั้งหมดเป็นการเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นรูปธรรม.-สำนักข่าวไทย