ทำเนียบฯ 29 ส.ค. – ครม.เห็นชอบแผนพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมไทย
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบแผนมาตรการพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากปัจจุบันหุ่นยนต์ เครื่องมืออัตโนมัติถูกนำมาใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จึงกำหนดเป้าหมายระยะสั้นปี 2560 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในประเทศ โดยให้ภาคอุตสาหกรรมปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตใช้ระบบอัตโนมัติ คาดว่าจะเกิดการลงทุนในหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท
และกำหนดเป้าหมายระยะกลาง (ปี 2561-2564) ยกระดับเทคโนโลยีไปสู่การผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีความซับซ้อนและมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น มีการลงทุนไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท และอุตสาหกรรมไทยอย่างน้อยร้อยละ 50 ของจำนวนโรงงานทั้งหมด ต้องมีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระดับสูงในโรงงาน อย่างน้อยร้อยละ 30 ของมูลค่าการนำเข้า ยอมรับว่าที่ผ่านมาไทยนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จนต้องขาดดุลการค้า 130,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้เด็กไทยเริ่มพัฒนาได้แล้ว แต่ยังมีส่วนที่ต้องนำเข้า สำหรับเป้าหมายระยะยาว (ปี 2565-2569) กำหนดให้ไทยเป็นผู้นำในการผลิต การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียน โดยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2569 ทั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรม ด้วยการผลิตได้เองโดยไม่ต้องนำชิพ ชิ้นส่วนสำคัญนำเข้าจากต่างประเทศ ขยายการใช้หุ่นยนต์ไปสู่ภาคบริการ เช่น การแพทย์ครบวงจร ด้านความมั่นคง และความปลอดภัย
สำหรับแผนพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัตินั้น ประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก ได้แก่ 1. มาตรการทางด้านการตลาด ทบทวนและปรับปรุงมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 ของเงินลงทุนเป็นเวลา 3 ปี หากปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในกรณีที่ระยะเวลาการได้รับการส่งเสริมการลงทุนเดิมยังไม่สิ้นสุดลง เป็นต้น 2.มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้พัฒนาระบบหรือ System Integrator (SI) ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และระบบอัตโนมัติ ส่งเสริมผ่านกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นต้น 3. มาตรการสร้างอุปทาน โดยการจัดการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถที่สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมถึงส่งเสริมบุคลากรให้มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีการผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบันและเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้น จำนวน 1,500 คน ภายใน 5 ปี เป็นต้น
4.มาตรการสร้าง Center of Robotics Excellence (CoRE) โดยการจัดตั้ง CoRE ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้สถาบันไทย-เยอรมัน กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานร่วมกับอีก 7 หน่วยงาน อาทิ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ด้วยการร่วมมือกระทรวงอุตสาหกรรมจัดพิธีลงนาม MOU วันที่ 30 สิงหาคม 2560 โดย CoRE มีหน้าที่ 4 ด้าน ได้แก่ ยกระดับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติ เพื่อนำไปสู่การผลิตหุ่นยนต์หลายประเภทที่มีความซับซ้อน, พัฒนาบุคลากรด้านนี้, ถ่ายทอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติให้กับบริษัท หรือบุคลากรที่ทำหน้าที่ออกแบบระบบอัตโนมัติ และ 5. มาตรการด้านอื่น ๆ เช่น พิจารณาสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในเชิงวิชาการและในอุตสาหกรรม เป็นต้น
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกระทรวงการคลังยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วนหุ่นยนต์ จากเดิมต้องนำเข้าสำเร็จรูปเท่านั้นและได้รับยกเว้นภาษีนิติบุคคลร้อยละ 300 หรือ 3 เท่าของรายจ่าย เพื่อวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยภาครัฐช่วยสนับสนุนพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติผ่านการจัดสรรงบประมาณของสำนักงบประมาณ โดยยืนยันว่าการสนับสนุนหุ่นยนต์นี้ไม่ได้เป็นการทดแทนบุคคล แต่จะเป็นการส่งเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากหุ่นยนต์ต้องนำไปใช้ทดแทนคนในงานที่ยาก เช่น อุตสาหกรรมที่ใช้ความร้อนสูง มีความเสี่ยงสูงต่อสารตกค้าง จึงต้องเปลี่ยนแรงมาฝึกอบรม ควบคุมหุ่นยนต์อีกทางหนึ่ง. -สำนักข่าวไทย