เชียงใหม่ 29 ส.ค. – กยท.ชูยางพาราภาคเหนือ มุ่งพัฒนาแบบครบวงจร หวังเพิ่มมูลค่าและสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้เกษตรกรชาวสวนยาง
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า กยท.เดินหน้าผลักดันให้การสนับสนุนและส่งเสริมการปลูกยางพาราตามนโยบายของรัฐบาล โดยเริ่มจากการปรับกระบวนทัศน์ของเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยหันมาปลูกยางตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางที่โค่นยางพาราแล้วยังปลูกพืชเศรษฐกิจหรือปลูกยางพารา จะส่งเสริมให้แบ่งสัดส่วนของพื้นที่เป็นการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ไม่ว่าจะเป็นการขุดบ่อ การทำปศุสัตว์ หรือทำปลูกพืชท้องถิ่นอื่น ๆ ร่วมด้วยในแปลงสวนยาง เพื่อให้มีรายได้หมุนเวียนตลอด หรือหากมีพื้นที่ปลูกยางพาราอยู่แล้ว กยท.จะส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่น หรือการทำปศุสัตว์ เป็นลักษณะเกษตรแบบผสมผสานควบคู่ด้วย
ทั้งนี้ จะเห็นได้จากพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางใหม่อยู่ในความดูแลของ กยท.จังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน มีเกษตรกรชาวสวนยางขึ้นทะเบียนกับ กยท. ประมาณ 2,067 ราย คิดเป็นพื้นที่ปลูกยางประมาณ 20,610 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย ประกอบอาชีพอื่นควบคู่กับการทำสวนยางพารา นอกเหนือจากการส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนยางด้านการปลูกและการดูแลสวนยางแล้ว การยกระดับความเข้มแข็งของเกษตรกรด้วยการส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางยังเป็นเรื่องที่ต้องเร่งผลักดันและส่งเสริมอย่างยิ่ง เพราะลักษณะภูมิประเทศของภาคเหนือ แม้จะได้เปรียบด้านยุทธศาสตร์การส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศจีน แต่ปริมาณผลผลิตและการลงทุนภาคเอกชนในการแปรรูป ตลอดจนภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ทำให้การขนส่งค่อนข้างลำบาก ดังนั้น การจัดตั้งตลาดยางพาราระดับท้องถิ่น เพื่อเป็นจุดรวบรวมและจำหน่ายผลผลิต สร้างอำนาจการต่อรอง จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรชาวสวนยาง
ปัจจุบันมีสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.จังหวัดเชียงใหม่ แบ่งเป็นนิติบุคคล 10 กลุ่ม และสถาบันเกษตรกรและเครือข่ายชาวสวนยาง 79 กลุ่ม และที่สำคัญมีจุดรวบรวมยางที่เป็นตลาดประมูลยางแบบครบวงจรทั้งหมด 15 แห่ง คาดว่าจะรวบรวมยางประมาณ 2,500 ตันต่อปี.-สำนักข่าวไทย