มสธ.23 ส.ค.-วงเสวนา เสนอแก้ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ความเสมอภาคในการสมรส เหตุรับรองสิทธิเฉพาะหญิงชาย ไม่มีความหลากหลายทางเพศ ผลวิจัยพบคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับศักดิ์ศรีฐานะคู่สมรสเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการ-รับมรดก-ทำนิติกรรม-ตัดสินใจรักษาพยาบาล
สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย จัดเวทีเสวนา “สิทธิความเสมอภาคในการสมรสที่ถูกเลือกปฏิบัติ”
นายชวินโรจน์ ธีรพัชรพร ทนายความและผู้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)และสาขานิติศาสตร์ มสธ. เปิดเผยผลวิจัย “สิทธิความเสมอภาคในการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศ”ว่าจากการเก็บข้อมูลคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ จำนวน22คู่ระหว่างปี 2558-2559 และสรุปผลการวิจัยในเดือน เมษายน ที่ผ่านมา พบว่า คู่รักเหล่านี้ต้องเผชิญสภาพปัญหาการขาดสิทธิด้านต่างๆได้แก่ สิทธิในการตัดสินใจรักษาพยาบาลและจัดการศพเช่น ไม่สามารถเซ็นรับรองการผ่าตัดคู่รักหรือเซ็นจัดการศพให้กับคู่รักที่เสียชีวิตอีกทั้งไม่มีสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกันและการอุ้มบุญสิทธิในการให้และรับมรดกแม้จะเป็นสิ่งที่หามาร่วมกัน สิทธิในการทำนิติกรรมร่วมกัน สิทธิในสวัสดิการร่วมกับคู่สมรส สิทธิในสินสมรสและการอุปการะเลี้ยงดูกัน สิทธิการได้รับศักดิ์ศรีในฐานะคู่สมรส และคู่รักเพศเดียวกันอาจถูกปฏิเสธเมื่อไปแสดงตนขอสิทธิในการสมรส เพราะกฎหมายกำหนดว่าต้องเป็นหญิงและชายเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ5มาตรา 1448 การสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ17ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้
“ตามกฎหมาย มาตราดังกล่าว มีเงื่อนไขให้สมรสได้เฉพาะชายหญิง ทำให้คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศไม่สามารถสมรสตามกฎหมาย ส่งผลให้ขาดศักดิ์ศรี สิทธิและหน้าที่ทางกฎหมาย ทั้งตาม ปพพ.และตามกฎหมายอื่นๆ ที่อ้างอิงคำว่า“คู่สมรส สามีภริยา ทายาทโดยธรรม” ขณะที่ในต่างประเทศ มีกฎหมาย2รูปแบบที่รับรองสิทธิในการใช้ชีวิตคู่ คือ “กฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิต”ซึ่งให้ศักดิ์ศรี และสิทธิไม่เท่ากับกฎหมายสมรส และ“กฎหมายที่ให้ความเสมอภาคในการสมรส” ซึ่งในต่างประเทศมีกว่า23ประเทศที่ใช้กฎหมายนี้ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ฯลฯ ล่าสุด ในไต้หวัน ศาลรัฐธรรมนูญใต้หวันมีคำสั่งให้แก้ไขประมวลแพ่งไต้หวันภายในปี2562 เพื่อให้คนกลุ่มนี้เกิดเสมอภาคในการสมรส ซึ่งหากสำเร็จไต้หวันจะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่จะได้ใช้กฎหมายนี้ ส่วนประเทศไทยอยู่ระหว่างการเสนอร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตโดยกรมคุ้มครองสิทธิฯ แต่ร่างฯนี้ไม่ได้ให้ศักดิ์ศรีสิทธิความเสมอภาค เท่ากับคู่สมรสหญิงชายทั่วไปการออกกฎหมายเฉพาะแยกออกมาจาก ปพพ.เท่ากับเป็นการตีตรา การเลือกปฏิบัติ ซึ่งขัดต่อหลักความเสมอภาค หลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นผู้วิจัยจึงเสนอให้มีการแก้ไขประมวลฯ แพ่งว่าด้วยการสมรส และได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ…เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียม” นายชวินโรจน์ กล่าว
นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า เนื่องจากการสมรสตามกฎหมายไทยใช้สิทธิได้เฉพาะชายหญิง หรือรับรองสิทธิเฉพาะหญิงกับชาย ซึ่งขัดกับหลักการความเสมอภาคห้ามมิให้เลือกปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา27 ดังนั้นจะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียม สะท้อนจากกรณีของฝรั่งที่จ้างสาวไทยอุ้มบุญจนกลายเป็นข่าวนั้น พบว่า กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศหลายคนต้องการมีชีวิตและครอบครัวเหมือนคู่ชายหญิง พวกเขาต้องการที่จะสร้างครอบครัว มีลูก แต่ในกฎหมายของไทยไม่มีการรับรองใดๆเลย แม้บางคู่จะอยู่กินฉันสามี ภรรยา จนตายกันไปข้างหนึ่ง สมบัติที่มีกลับเป็นปัญหาว่าจะตกเป็นของญาติผู้เสียชีวิตหรือไม่ ทั้งๆที่คนทั้งสองคนช่วยกันทำมาหากิน สร้างสินทรัพย์กันขึ้นมา รวมไปถึงการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
“มูลนิธิฯและเครือข่ายที่ทำงานด้านนี้ขอเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องแก้ไขกฎหมายเพื่อให้กลุ่มหลากหลายทางเพศมีสิทธิเหมือนคนทั่วไป เข้าถึงสิทธิสมรสได้โดยไม่เลือกปฏิบัติ” นางสาวสุเพ็ญศรี กล่าว
ขณะที่นางพัชรี อาระยะกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวว่า ทางเรากำลังรวบรวมกฎหมายต่างๆทั้งหมดที่ยังเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เพื่อผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมเสมอภาค แต่ยอมรับว่าคงต้องใช้เวลาในการศึกษา ว่าอันไหนจะมีทิศทางสามารถแก้ไขได้ก่อน คาดว่าในอนาตคผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจะมีสิทธิที่พึงจะได้รับอย่างเท่าเทียม เช่น สิทธิสวัสดิการ ทรัพย์สินที่หามาด้วยกัน สามารถแบ่งปันกันได้ และเห็นด้วยหากจะมี พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตเกิดขึ้น แต่ต้องครอบคลุมและเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม อยากเชิญชวนให้คนกลุ่มนี้ หรือผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ สามารถยื่นคำร้องตามสิทธิ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ได้ที่สายด่วน1300 หรือส่งเรื่องร้องทุกข์มาได้ที่กองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือและเยียวยา รวมทั้งนำคำร้องที่ยื่นมาเสนอต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ(วลพ.)วินิจฉัยคำร้องที่บุคคลถูกเลือกปฏิบัติ ฯ .-สำนักข่าวไทย