กรุงเทพฯ 22 ส.ค.-หลายหน่วยงานร่วมเสนอ ผลักดันนโยบาย “ขยายอายุการจ้างงานหลังเกษียณ” เสนอ 3 แนวทางต่ออายุหลังเกษียณ เน้นสมัครใจทั้งลูกจ้าง นายจ้าง นำไปปรับใช้ให้เหมาะสม ช่วยรับมือสังคมสูงวัย มีหลักประกันรายได้ เปลี่ยนภาระเป็นพลัง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.)และภาคีเครือข่าย จัดงานเวทีขับเคลื่อนนโยบาย “ขยายอายุการจ้างงาน : คุณค่าต่อสังคมไทย” โดยมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ และรองประธานคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ คนที่ 2 เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วยนพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ผู้บริหารและสถานประกอบการโครงการนำร่อง 13 แห่ง
นพ.วิชัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มาตั้งแต่ ปี 2548 เนื่องมาจากอัตราการเกิดลดลง อัตราประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น และคาดว่าในปี 2564 จะมีประชากรสูงอายุมากถึง 13 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และในปี 2574 จะมีประชากรสูงอายุ ร้อยละ 28 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super Aged Society) สถานการณ์เหล่านี้นำมาสู่ประเด็นปัญหาผู้สูงอายุด้านต่าง ๆ ทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาด้านสุขภาพและปัญหาสังคม เมื่อเปรียบเทียบความรวดเร็วในการเพิ่มจำนวนอัตราของผู้สูงอายุของประเทศในภูมิภาคเอเชียแล้ว ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเทศที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วเป็นอันดับที่ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์ โดยมีประเทศบรูไน เป็นอันดับ 3 และประเทศเวียดนามเป็นอันดับ 4 ประเทศไทยจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือโดยเฉพาะการส่งเสริมหรือการสร้างโอกาสให้ผู้สูงอายุได้ทำงานต่อไปอย่างเหมาะสมหลังเกษียณ เป็นการส่งเสริมคุณค่าของผู้สูงอายุ และเป็นการสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้กับผู้สูงอายุ ตลอดจนเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม
นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า จากการสำรวจประชากรสูงอายุในไทย ปี 2557 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในจำนวนผู้สูงอายุ 10,014,705 คน ร้อยละ 38.4 เป็นผู้ที่ทำงานอยู่ และประมาณร้อยละ 24.9 ของผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 60 – 69 ปี มีความต้องการที่จะทำงาน ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยมีศักยภาพมีส่วนร่วมในการทำงาน และมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ และต้องการที่จะอยู่ในตลาดแรงงาน ซึ่งช่วยลดภาระพึ่งพิง เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
ด้าน นางภรณี ภู่ประเสริฐ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า การสร้างเสริมโอกาสในการทำงานให้ผู้สูงอายุ การขยายอายุการทำงานหรืออายุเกษียณ เป็นนโยบายที่มีความสำคัญและมีบทบาทอย่างยิ่งในอนาคต ซึ่งต้องอาศัยเวลา ดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างมีขั้นตอน ไม่กระทบสิทธิของลูกจ้าง โดยต้องสร้างความตระหนักรู้และการยอมรับจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง สสส. เห็นความสำคัญจึงร่วมกับมส.ผส.กระทรวงแรงงาน กรมกิจการผู้สูงอายุ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายต่างๆ ดำเนินการโครงการนำร่องการขยายอายุการจ้างงานแรงงานสูงวัยในสถานประกอบการเพื่อสร้างต้นแบบและแนวทางในการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ได้ข้อค้น พบสำคัญ มองเห็นปัญหาและอุปสรรค ผ่านประสบการณ์ตรงของสถานประกอบการ 13 แห่งนำร่อง ปัจจุบันนโยบายการขยายอายุการทำงานของแรงงานสูงวัยในสถานประกอบการ ได้รับการตอบรับจากสังคมอย่างกว้างขวาง จนนำมาสู่การออกมาตรการต่างๆของภาครัฐ รวมทั้งได้มีการกำหนดเป็นประเด็นในการขับเคลื่อนของคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม (E6) ในเรื่องการจ้างงานผู้สูงอายุ ซึ่งชัดเจนว่า การขยายอายุการทำงานเป็นการส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แรงงานสูงวัย เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางรายได้ให้กับผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ลดภาระและการพึ่งพิงครอบครัว และสังคมได้ ตลอดจนสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
ขณะที่ พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) กล่าวว่า จากการศึกษาของมส.ผส.ขอเสนอรูปแบบการขยายการจ้างแรงงานสูงอายุ 3 รูปแบบ ดังนี้ 1. ขยายอายุการเกษียณ จากเดิม 55 ปีบริบูรณ์ เป็นการต่อสัญญาทำงานต่อแบบปีต่อปี ที่ลูกจ้าง ยังอยู่ในระบบประกันสังคม 2.การจ้างงานเข้ามาใหม่หลังอายุเกษียณ ลูกจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์ หรือ เงินชดเชยต่างๆ จาการลาออกทั้งหมด เช่น ค่าชดเชยการเลิกจ้าง เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สิทธิชราภาพจากประกันสังคมแบบบำเหน็จ/บำนาญ แต่เมื่อกลับเข้ามาทำงานในระบบใหม่ ลูกจ้างจะต้องสมัครเข้าระบบประกันสังคมอีกครั้ง โดยเริ่มนับระยะเวลาการส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคมใหม่
และ 3. การขยายอายุเกษียณเป็นการทั่วไปของบริษัทที่อายุมากกว่า 55 ปี เป็นการกำหนดเงื่อนไขใจการทำงานใหม่ โดยให้การเกษียณมากกว่าอายุ 55 ปี ซึ่งผู้ประกอบการสามารถขยับอายุการเกษียณสำหรับแรงงานที่อายุยังไม่มากได้ เพื่อลดผลกระทบจากการวางแผนของแรงงานในแต่ละช่วงวัย เช่น หากเป็นแรงงานใหม่อาจกำหนดอายุการเกษียณที่ 60 ปีไว้ในเงื่อนไขการจ้างงานตั้งแต่ต้น ในขณะที่แรงงานเก่าให้เป็นไปตามสมัครใจของแรงงาน ในส่วนของเงินสำรองเลี้ยงชีพของทั้ง 3 รูปแบบนั้น เหมือนกันคือ เป็นภาคสมัครใจ ดังนั้นจะสะสมหรือไม่สะสมต่อเนื่องก็เป็นไปตามนโยบายของแต่ละสถานประกอบการ
“ในทางปฏิบัติสถานประกอบการแต่ละแห่งจะแตกต่างกันออกไป สถานประกอบการควรเลือกและนำไปประยุกต์ให้เหมาะสมกับองค์กรของตนเอง และควรยึดมาตรฐานแนวทางปฏิบัติที่ดี เช่น ประกาศแนวทางในการจ้างแรงงานสูงอายุที่ชัดเจน ,จัดทำปฏิทินการดำเนินการในแต่ละปี เช่น ช่วงเวลาเปิดรับสมัครแรงงานที่ต้องการขยายอายุแรงงาน เงื่อนไข รายละเอียดที่ชัดเจน เพื่อให้แรงงานสูงอายุที่ต้องการทำงานสามารถวางแผนต่อได้”พญ.ลัดดา กล่าว .-สำนักข่าวไทย