ธปท.ชี้ SMEs ยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก

ธปท. 4 มิ.ย. – ธปท.ระบุ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย กลไกค้ำประกันมีข้อจำกัด แนะเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่จำกัดประเภทผู้ให้กู้-รูปแบบการกู้ยืม เพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น มีข้อมูลประเมินความเสี่ยง ยืดหยุ่น และแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพ


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานเสวนาเรื่อง “กลไกค้ำประกันเครดิต ตัวช่วยของ SMEs ในการเข้าถึงเงินทุน” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่าง ๆ และรับฟังความเห็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากลไกค้ำประกันเครดิตของไทยเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs โดยมีนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวเปิดงาน เน้นถึงปัญหาของ SMEs ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยว่า ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จนทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้เต็มที่ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงควรร่วมกันหาแนวทางเพื่อพัฒนากลไกที่จะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs และตอบโจทย์ของประเทศได้ดีที่สุด

นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.เปิดเผยถึงผลการศึกษาของ ธปท. เกี่ยวกับปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs และบทบาทของกลไกค้ำประกันเครดิต โดยระบุว่าการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของไทย โดยสินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 ถึงปัจจุบัน (ล่าสุด ณ ไตรมาส 1 ปี 2567 สินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัว 5.1%) นอกจากนี้ จากข้อมูลสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ ธปท. พบว่าจากจำนวน SMEs ในระบบทั้งหมด 3.2 ล้านราย มี SMEs ไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงสินเชื่อเพื่อธุรกิจในระบบสถาบันการเงิน


SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก จากทั้งการมีทุนและความสามารถในการแข่งขันที่จำกัด ทำให้ผลประกอบการผันผวน การมีข้อมูลประวัติทางการเงินไม่เพียงพอและไม่มีหลักประกัน รวมทั้งมูลค่า สินเชื่อมีขนาดเล็ก ไม่คุ้มกับต้นทุนของสถาบันการเงินในการประเมินและติดตามความเสี่ยง ทำให้โดยรวมสถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ หรือให้สินเชื่อด้วยต้นทุนกู้ยืมที่สูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อชดเชยความเสี่ยง

ที่ผ่านมา การค้ำประกันโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นกลไกสำคัญ ที่แบ่งเบาความเสี่ยงของ SMEs ทำให้สถาบันการเงิน กล้าปล่อยสินเชื่ออย่างทั่วถึงขึ้น ซึ่งโครงการค้ำประกันสินเชื่อ(Portfolio Guarantee Scheme – PGS) ของ บสย, แต่ละโครงการ รวมถึงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูในช่วงโควิด 19 มีส่วนช่วยให้สินเชื่อธุรกิจ SMEs ขยายตัวได้แม้ในช่วงวิกฤต อย่างไรก็ดี กลไกค้ำประกันในปัจจุบันยังมีข้อจำกัด เช่น
-ขอบเขตการค้ำประกันที่จำกัด โดยครอบคลุมเฉพาะการค้ำประกันสินเชื่อที่ปล่อยโดยสถาบันการเงิน (ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองชิเอร์) และบริษัทลูกเท่านั้น
-ข้อมูลและเครื่องมือไม่เพียงพอ ทำให้การประเมินความเสี่ยงของ SMES แต่ละรายทำได้ยาก จึงต้องใช้วิธีค้ำประกันแบบกลุ่ม (portfolio guarante) ที่คิดค่าธรรมเนียมจากลูกหนี้เท่ากัน ทุกรายในแต่ละโครงการ ทำให้ลูกหนี้บางส่วนอาจต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสูงกว่าความเสียงของตนเอง
-การค้ำประกันขาดความยืดหยุ่นในการช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจที่สอดคล้องกับทิศทาง/ ยุทธศาสตร์ของประเทศ หรือเป็นกลไกให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจในช่วงวิกฤต เห็นได้จากในช่วงโควิด 19 ที่ต้องออกพระราชกำหนด (พรก.) เพื่อให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) แก่ SMEs ในการช่วยเหลือเพิ่มเติม

นายสมชาย ยังกล่าวเพิ่มเติมว่ากลไกค้ำประกันเครดิตที่มีประสิทธิภาพ ควรตอบโจทย์ทั้งภาครัฐ ผู้ให้กู้ยืม และ SMEs ภายใต้แรงจูงใจที่เหมาะสมร่วมกัน โดยตัวอย่างกลไกค้ำประกันเครดิตที่ประสบความสำเร็จในประเทศที่มี SMEs เป็นแกนหลักคล้ายกับไทย เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวัน ที่มีลักษณะสำคัญ 5 ข้อ คือ ไม่จำกัดประเภทผู้ให้กู้ยืม หรือรูปแบบการกู้ยืมอยู่ที่เฉพาะสินเชื่อ ทำให้สามารถสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMES ในรูปแบบที่หลากหลายและเหมาะกับธุรกิจแต่ละกลุ่มมากขึ้นรวมถึงสนับสนุนธุรกิจตามเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว, มีข้อมูลและแบบจำลองเพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตที่สะท้อนระดับความเสี่ยงของ ลูกหนี้แต่ละราย ทำให้กำหนดค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมได้ (risk-based pricing), มีความยืดหยุ่น สามารถใช้เป็นกลไก/เครื่องมือเชิงนโยบายทั้งในภาวะปกติและช่วงวิกฤต, มีเงินทุน (funding) ที่มีเสถียรภาพ มั่นคง ที่มาจากผู้มีส่วนได้เสียในแต่ละภาคส่วน อย่างเกาหลีใต้ เงินสมทบจะมาจากทั้งรัฐบาล สถาบันการเงิน และภาษธุรกิจอื่น ๆ ตามความสมัครใจ ทำให้ทั้งรัฐ สถาบันการเงิน และเอกชนต้องร่วมกันประเมินและปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และประการสุดท้าย ให้การสนับสนุน SMEs มากกว่าเพียงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อาทิ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่มีบริการครบวงจร ทั้งให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจและการบริหารจัดการเงินเพื่อช่วยยกระดับศักยภาพของ SMEs


สำหรับในช่วงการเสวนาระหว่างผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และผู้ดำเนินการเสวนา ดร.ณชาอนันต์โชติกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ KKP Research ได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อแนวทางการพัฒนากลไกค้ำประกันเครดิตให้ตอบโจทย์ SMEs ไทยได้มากขึ้น ซึ่ง ธปท. จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะมาใช้ประกอบการพิจารณาและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงการคลังเพื่อร่วมกันพัฒนากลไกค้ำประกันเครดิตของประเทศที่มีประสิทธิภาพ ยืดหยุ่น และครอบคลุมขึ้นต่อไป. -516-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

ซุ้มไฟเฉลิมพระเกียรติฯ สุดตระการตา รับประเพณียี่เป็ง

ยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงใหม่ ประดับประดาด้วยแสงไฟรับประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเชียงใหม่ โดยเฉพาะบนถนนท่าแพ มีการสร้างซุ้มประดับไฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 14 ซุ้ม ยาวกว่า 200 เมตร.

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมรีดทรัพย์ รับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพื่อขายงาน

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมเรียกรับเงิน 20 ล้านบาท จากดิไอคอน ยอมรับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพราะต้องการขายงาน

คุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง เจ้าตัวเงียบรีบเดินขึ้นรถตู้

ตำรวจกองปราบคุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง ผู้ต้องหาปัดตอบสื่อ ด้านพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เพราะมีพฤติการณ์หลบหนี