รัฐสภา 29 พ.ค.- นักวิชาการ มอง สถานการณ์การเมืองหลัง อสส.สั่งฟ้อง “ทักษิณ” คดี ม.112 ช่วยลดทอนกระแสสังคมได้ แต่ปมความขัดแย้งยังไม่หายไป วิเคราะห์มีโอกาสสูงศาลจะให้ประกันตัว
นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองสถานการณ์การเมือง ภายหลังอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากเหตุให้สัมภาษณ์กับสื่อเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ว่า กรณีมาตรา 112 ถือว่ามีความร้อนแรง ขณะเดียวกันก็มีความอ่อนไหว ซึ่งมีผู้ที่อยู่ในข่ายต้องคดี หนีพอสมควร โดยในช่วงปี 2563 ถึง 2567 มีคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ถึง 303 คดี มีผู้ถูกกล่าวหา 272 คน และมีผู้กล่าวหา 90 คน ดังนั้นเมื่ออัยการสั่งฟ้องนายทักษิณ คดีมาตรา 112 ก็จะถูกหยิบจับมาเปรียบเทียบกับอีกหลายคดี ซึ่งการสั่งฟ้องของอัยการต้องเป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบ ถึงเรื่องข้อเท็จจริงและประเด็นข้อกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่าคงมีความพยายามในการโยงไปสู่เรื่องการเมือง เช่น ก่อนหน้านี้มีคนโยงไปถึงเรื่องดีลลับ ตั้งแต่วันที่นายทักษิณกลับเข้ามาในประเทศไทย และเป็นวันเดียวกับที่ประเทศไทยมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ปรากฏนายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับการโหวตเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้เรื่องดีลลับถูกพูดถึง จนกระทั่งมีการเคลื่อนไหวของ 40 สว. แต่ดีลลับจะมีอยู่จริงหรือไม่ ก็ไม่มีหลักฐานหรือสิ่งยืนยันชัดเจน เพียงแต่ปฎิเสธไม่ได้ว่า กรณีการสั่งฟ้องนายทักษิณ มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมือง นอกจากประเด็นข้อกฎหมาย
นายยุทธพร ยังมองว่าอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ การพ้นโทษของนายทักษิณ ในช่วงเดือนสิงหาคมปีนี้ เพราะฉะนั้นในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ ที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้นายทักษิณไปพบเพื่อยื่นฟ้องศาล มีโอกาสสูงที่ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัว เพราะหากเราย้อนไปในช่วง 2 ถึง 3 สัปดาห์มานี้ ผู้ที่ต้องโทษคดีมาตรา 112 ก็ได้รับการประกันตัวแทบจะครบทุกคน ก็เป็นเหตุที่ คาดว่าจะทำให้นายทักษิณ ได้รับการประกันตัว แต่เมื่อได้รับการประกันตัวแล้วก็ยังต้องมีการต่อสู้คดีต่อ
ส่วนจะทำให้กระแสสังคม โดยเฉพาะกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองลดทอนลงหรือไม่ นั้น มองว่า กระแสสังคมที่พูดถึงมาตรา 112 น่าจะลดทอนลงไป เมื่อกระบวนการยุติธรรมมีคำอธิบายได้ว่าจะวินิจฉัยข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงอย่างไร แต่เมื่อนายทักษิณถูกอัยการสั่งฟ้อง ก็มองว่าคงไม่ทำให้ปมประเด็นความขัดแย้งหายไป พร้อมเห็นว่าขณะนี้กำลังมีการพิจารณาการศึกษาแนวทางการตรา พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าจะ ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นเรื่องการเมืองอีก ว่าการออกกฏหมายนิรโทษกรรมเป็นการช่วยนายทักษิณหรือไม่ แต่หากพิจารณาอย่างเป็นธรรมจะพบว่าเรื่องของนายทักษิณเกิดขึ้นภายหลัง กระบวนการในการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม รวมถึงการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาฯ เกิดขึ้นก่อน 2-3 เดือน
นอกจากนี้พบว่ามีการปั่นกระแสในสังคมว่า กรรมาธิการฯ ได้ถอดเรื่องมาตรา 112 ออก ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจาก 25 ฐานความผิดยังคงมีมาตรา 112 อยู่ในนั้น และอยู่ในช่วงของการพูดคุยทุกฐานความผิดยังไม่มีการตัดเรื่องไหนออกไป ทั้งเรื่องมาตรา 112 ยังคงมีความคิดเห็นที่แตกต่างภายในสังคมมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและไม่สนับสนุน ดังนั้นการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ และรอบด้านจึงเป็นโจทย์สำคัญในกระบวนการนิรโทษกรรมคดีต่างๆ แบ่งเป็นคดีหลัก คดีรอง คดีที่มีความอ่อนไหว หรือมีความละเอียดอ่อนในทางการเมือง การจำแนกคดีต่างๆ เหล่านี้มีมาตรา 112 รวมอยู่ด้วย ท้ายที่สุดการนิรโทษกรรมก็ต้องลงไปที่การสร้างความปรองดองและความสมานฉันท์ในสังคม เพราะฉะนั้นการนิรโทษกรรมหากทำให้เกิดประเด็นปัญหา ความขัดแย้งซ้ำขึ้นมาอีกก็ไม่ถือว่าการนิรโทษกรรมประสบความสำเร็จ
นายยุทธพร ยังมองว่า สภายังเดินหน้า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะได้ดำเนินการกันมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยพิจารณาถึงสถานการณ์ทางการเมืองว่าจะต้องช่วยใครเป็นพิเศษ หรือเป็นประโยชน์กับกลุ่มใด บุคคลใด หรือใครคนใดคนหนึ่ง ไม่มีอย่างนั้น แต่แน่นอนว่าสังคมมีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถาม จนถึงขั้นที่หลายคน ตั้งคำถามว่าการออกกฏหมายนิรโทษกรรมจะเป็นการช่วยเหลือ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือไม่ ขอยืนยันว่าในการประชุมทุกครั้ง ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่มีการพูดถึงชื่อของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้แต่ครั้งเดียว อีกครั้งฐานความผิด 25 ฐานไม่มีข้อไหนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐตามมาตรา 157 จึงขอให้สังคมใช้วิจจารณาญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร เช่นเดียวกันกับประเด็นของนายทักษิณ ซึ่งอาจจะมีการเชื่อมโยงกันว่า การออกกฏหมายนิรโทษกรรมจะเป็นการช่วยนายทักษิณหรือไม่ .-316.-สำนักข่าวไทย