กรุงเทพฯ 24 เม.ย. – แบงก์ชาติ ไม่ขัด ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ แต่ถ้าเป็นไปได้อยากให้เจาะจงเฉพาะกลุ่มที่ลำบาก คุ้มค่างบประมาณ ชี้ลดดอกเบี้ยไม่ใช่เครื่องมือหลักแก้หนี้ ช่วยลดภาระหนี้ระยะสั้น แต่เกิดยอดคงค้างหนี้เพิ่มขึ้นในระยะยาว พร้อมจับตาการประชุมสมาคมธนาคารไทยเย็นนี้
ดร.ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการประชุมชี้แจงนักวิเคราะห์ (Monetary Policy Forum ) ครั้งที่ 1/2567 หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอเบี้ยนโยบาย ที่ร้อยละ2.50 ต่อปี เมื่อ 10 เม.ย.2567 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ดอกเบี้ยไม่ใช่เครื่องมือหลักในการแก้ปัญหาหนี้ เป็นเพียงการช่วยบรรเทาปัญหา ซึ่งในต่างประเทศ แม้จะมีการลดดอก แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้สูงได้ ปัจจัยหลักที่จะแก้หนี้ ต้องทำให้รายได้เพิ่มขึ้น จากแรงส่งที่ไม่เกี่ยวกับดอกเบี้ย เช่น การส่งออกที่ดีขึ้น การผลิตที่สูงขึ้น ทั้งนี้ กนง.พร้อมปรับดอกเบี้ย แต่ต้องดูว่าจะมีปัจจัยใหญ่ใดๆ เข้ามาหรือไม่ และผลกระทบมีความยั่งยืนขนาดไหน มีนัยยะต่อนโยบายเพียงพอจะปรับมั้ย 0.25-0.50 ไม่ได้มีผลต่อภาพใหญ่มากนัก
ส่วนกรณีที่สมาคมธนาคารไทย นัดประชุมกันเย็นนี้ หลังธนาคารตัวแทนสมาคมธนาคารไทย 4 ธนาคาร เข้าพบนายกรัฐมนตรีวานนี้ (23 เม.ย.) หากเป็นการมุ่งเน้นช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ก็สอดคล้องกับแนวทางของแบงก์ชาติ ที่จะดูแลกลุ่มนี้ตั้งแต่หลังโควิด ขึ้นอยู่กับสมาคมธนาคารไทย จะมีมาตรการอย่างไรออกมา หากเป็นการช่วยกลุ่มเปราะบางถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องของกลไกตลาด
สำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet นั้น แบงก์ชาติ ไม่ได้ขัดข้องกับภาพรวมของโครงการ ที่รัฐบาลจะมีมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เรื่องของรูปแบบถ้าเป็นไปได้ อยากจะให้เจาะจง ช่วยเฉพาะกลุ่มที่ลำบาก คุ้มค่ากับเม็ดเงิน และประหยัดงบประมาณ และเป็นไปตามกรอบที่ควรจะเป็น
ส่วน การดำเนินการที่รัฐบาลจะใช้แหล่งเงินจาก ธ.ก.ส. นั้น ต้องส่งให้กฤษฎีกาตีความให้ชัดเจน ก่อนว่า จะสามารถใช้แหล่งเงินตามมาตรา 28 พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังได้หรือไม่ และขึ้นอยู่กับบอร์ด ธ.ก.ส. ทั้งนี้ ธปท. มีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องที่เกี่ยวกับการเงินทั่วไป ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินว่าทำได้หรือไม่ได้
ขณะที่นาย สุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. ระบุว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้ ช่วยลดภาระหนี้ได้เพียงระยะสั้น แต่จะส่งผลให้เกิดยอดคงค้างหนี้เพิ่มขึ้นในระยะยาว และเกิดการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ทำให้ แบงก์ชาติ มองว่า อัตราดอกเบี้ยระดับปัจจุบัน ที่ 2.50% เหมาะสมที่จะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจและรองรับความเสี่ยงในระยะยาว.-516-สำนักข่าวไทย