กรุงเทพฯ 31 ต.ค.- โฆษก ธปท. เผย มีกฎหมายถ่วงดุลอำนาจ ประธานบอร์ด ลุ้น รายชื่อ 4 พ.ย.นี้ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/67 ปรับดีขึ้น แรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวสูง
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวถึงหลายฝ่ายแสดงความเห็นเป็นห่วง การแทรกแซงทางการเมือง ในการคัดเลือกประธานกรรมการ ธปท. ว่า ถือเป็นการส่งผ่านความห่วงใย และความกังวลไปยังคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 4 พ.ย.นี้ ดังนั้นคงต้องรอดูการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก่อน ว่าผลจะออกมาอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งประธานกรรมการ ธปท.นั้น โดยหลักแล้วจะเป็นเรื่องการบริหารงานเป็นส่วนใหญ่ เพราะการตัดสินนโยบาย จะมีคณะกรรมการนโยบายภายใต้กฎหมายอยู่แล้ว ดังนั้นประธานกรรมการ ธปท. จะดูแลในภาพรวมของการบริหารจัดการ และการดำเนินงานทั่วไปของ ธปท.มากกว่า เช่น งบประมาณ การบริหารบุคคล การบริหารจัดการเงินสำรอง เป็นต้น ในแง่กฎหมายและโครงสร้างที่มีอยู่นั้น จะมีการตรวจสอบ ถ่วงดุล รวมทั้งมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ชัดเจนในระดับหนึ่งอยู่แล้ว
โฆษก ธปท.ยังเปิดเผยว่าภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ย.67 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ตามการส่งออกสินค้าและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัว อย่างไรก็ดี รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัว ทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวด โดยหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นจากผลของฐานต่ำในปีก่อน ที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ หมวดอาหารสดเพิ่มขึ้นตามราคาผัก ด้านดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุลลดลงตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ที่ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากทั้งรายรับภาคท่องเที่ยว รวมถึงการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจ ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ อยู่ที่ 2.5 ล้านคน ลดลงจากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ชะลอการเดินทาง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 0.61% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวดหลัก โดยหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ หมวดอาหารสดเพิ่มขึ้นตามราคาผัก และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น จากราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ ด้านดุลบัญชีเดินสะพัด อยู่ที่ 600 ล้านดอลลาร์ เกินดุลลดลงตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ที่ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากทั้งรายรับภาคท่องเที่ยวและการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจ ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน
โฆษก ธปท. ยังกล่าวถึงในภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ว่า ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าที่เร่งขึ้นตามการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับได้รับผลดีจากปัจจัยชั่วคราวในบางสินค้า รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวสูงจากทั้งรายจ่ายลงทุนและประจำ หลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ ประกอบกับและการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม รายรับภาคท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนลดลงเล็กน้อย ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง โดยเฉพาะหมวดยานยนต์
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยระยะต่อไป ธปท.มองว่า ยังมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวและบริการ ขณะที่การส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังทยอยฟื้นตัว แต่มีบางอุตสาหกรรมที่จะยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายรับธุรกิจ และรายได้ครัวเรือนในบางกลุ่มยังเปราะบาง
นอกจากนี้ ต้องติดตามปัจจัยที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป เช่น 1.การฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิต 2.การใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และ 3.ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ -511 สำนักข่าวไทย