โรคพาร์กินสันเกิดจากสาเหตุใด ปัจจัยเสี่ยงคืออะไร การเกิดโรคมีอะไรบ้าง
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
กลไกการเกิดโรคของร่างกายในทุก ๆ โรค มีทั้งปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยป้องกัน
เมื่อเกิดโรคได้เพราะปัจจัยต่าง ๆ เสียสมดุล โดยที่ปัจจัยเสี่ยงมากกว่า
สำหรับโรคพาร์กินสันเวลามองปัจจัยเสี่ยง จะต้องมองอย่างรอบด้านว่าอะไรคือปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขได้ และอะไรคือปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขไม่ได้
ปัจจัยเสี่ยง “แก้ไขไม่ได้”
ปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขไม่ได้ คือ อายุที่เพิ่มมากขึ้น
ตามสถิติข้อมูลผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่เก็บในประเทศไทย
อายุเกิน 60 ปี 1 เปอร์เซ็นต์
อายุเกิน 80 ปี 3 เปอร์เซ็นต์
อายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 63 ปี
นี่คือสิ่งที่แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว
ปัจจัยเสี่ยง “แก้ไขได้”
สำหรับปัจจัยเสี่ยงโรคพาร์กินสันที่แก้ไขได้ ยกตัวอย่างที่เห็นชัด ๆ ก็คือ
1. เรื่องของสารพิษฆ่าแมลง (ยาฆ่าแมลง) และสารพิษปราบศัตรูพืช (ยาปราบศัตรูพืช) เป็นปัจจัยภายนอก ปัจจัยของสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เป็นสิ่งที่ป้องกันและแก้ไขได้
2. การกระทบกระเทือนทางศีรษะอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยเฉพาะบางอาชีพ เช่น นักมวยไทยมีความเสี่ยงของกลุ่มโรคนี้ค่อนข้างมาก จากการกระทบกระเทือนบริเวณศีรษะ ส่วนกลไกการแก้ไขจะเป็นเรื่องการใช้อุปกรณ์ป้องกันหรืออะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงเล็ก ๆ อีกมาก เช่น มลภาวะที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน และเริ่มมีงานวิจัยบอกมากขึ้นในเรื่องของอากาศ การดื่มน้ำบาดาล หรืออะไรต่าง ๆ แต่เป็นปัจจัยที่เล็ก ๆ การศึกษาค่อนข้างน้อย ซึ่งทำให้เห็นว่าปัจจัยเหล่านี้น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับคน แต่เป็นปัจจัยเสริมที่ปัจจุบันข้อมูลยังไม่ค่อยชัดเจน
สารพิษ (ยา) ฆ่าแมลง หรือสารพิษ (ยา) ปราบศัตรูพืช ก่อให้เกิดโรคพาร์กินสันได้อย่างไร
หลัก ๆ สารพิษเหล่านี้ทำให้เซลล์ที่ผลิตสารโดพามีนเสื่อมลงหรือตาย โดยกลไกสารพิษเหล่านี้จะไปทำให้เซลล์ทำงานไม่ดี มีการเสื่อมของระบบประสาท
เมื่อสารโดพามีนลดลง ผู้ป่วยพาร์กินสันก็จะมีปัญหา 4 อาการหลักทางการเคลื่อนไหว ดังนี้
1. อาการสั่น (Tremor) เป็นอาการเด่นที่พบบ่อยสุด คือจะเริ่มเห็นที่มือ โดยเป็นที่ข้างใดข้างหนึ่งก่อน และเกิดขณะที่อยู่เฉย ๆ อาการสั่นจะลดลงเมื่อใช้มือนั้นทำงาน
2. อาการแข็งเกร็ง (Rigidity) เกิดที่แขนหรือขาข้างเดียวกับที่มีอาการสั่น ทำให้เกิดความลำบากต่อผู้ป่วยมากที่สุด เคลื่อนไหวได้ช้าลง นอกจากนี้ ตัวหนังสือที่ผู้ป่วยเขียนจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง โดยตัวหนังสือจะเล็กลงและชิดติดกัน
3. อาการเคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia) และเคลื่อนไหวน้อยน้อย (Hypokinesia) ต้องใช้ระยะเวลานานในการเริ่มเคลื่อนไหวร่างกาย
4. อาการทรงตัวไม่สม่ำเสมอ (Postural instability) ผู้ป่วยมักจะเดินซอยเท้าถี่และเล็ก ในลักษณะโน้มตัวไปข้างหน้า และเดินไม่แกว่งแขน
นอกจากนี้ ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่าอาการของโรคพาร์กินสันยังรวมไปถึงอาการที่นอกเหนือจากอาการเด่นในการเคลื่อนไหวที่ช้า (Non-motor manifestations) ดังเช่น อาการหลงลืม ซึมเศร้า ท้องผูก รวมไปถึงอาการเสื่อมสมรรถนะทางเพศ
สารพิษหลายตัวสามารถทำให้ผู้ป่วยหรือสัตว์ทดลองมีอาการของพาร์กินโซนิซึม (Parkinsonism) ได้ เช่น MPTP, Paraquat, Organochlorines และ Rotenone ซึ่งใช้เป็นส่วนผสมของสารพิษกำจัดศัตรูพืช และพิษจากแมงกานีส เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้ทำให้เกิดอาการพาร์กินโซนิซึมได้ ซึ่งอาจจะแยกแยะได้ยากจากผู้ป่วยพาร์กินสันทั่วไป
นอกจากได้รับสารพิษฆ่าแมลงผ่านการหายใจแล้ว ยังมีซึมผ่านทางผิวหนังด้วย ดังนั้น กลไกการป้องกันจึงไม่ใช่เฉพาะเรื่องการใส่หน้ากากแต่เพียงอย่างเดียว
สิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงตลอดคือสิ่งที่กินเข้าไป การกินผักหรืออาหารต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสะสมของสารพิษฆ่าแมลง สารพิษปราบศัตรูพืช ซึ่งเป็นการรับเข้าไปโดยตรง
ปัจจัยเสี่ยงภายนอกกับพันธุกรรมพาร์กินสัน
ในคนที่ได้รับปัจจัยเสี่ยงภายนอก (สารพิษฆ่าแมลง สารพิษปราบศัตรูพืช) และมีพันธุกรรมพาร์กินสันด้วย ก็ไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะต้องป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน
คนที่มีพันธุกรรมพาร์กินสันอยู่แล้วจะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น เช่น ถ้าได้รับสารพิษฆ่าแมลงหรือสารพิษปราบศัตรูพืช จะมีผลต่อเซลล์ที่ผลิตสารโดพามีนเพิ่มเป็นทวีคูณ
ในขณะที่คนไม่มีพันธุกรรมพาร์กินสัน ผลกระทบต่อเซลล์ต่าง ๆ จะน้อยกว่า
ดังนั้น จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงสารพิษฆ่าแมลงหรือสารพิษปราบศัตรูพืชจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคพาร์กินสันได้
ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO) มีการให้ข้อมูลเรื่องสารพิษที่มีความเสี่ยงต่อระบบประสาท สามารถดูเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงบางปัจจัย อาจเป็นส่วนสำคัญของการป้องกันการเกิดโรคได้
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมสธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ
ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : ปัจจัยเสี่ยงโรคพาร์กินสัน
ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : การป้องกันปัจจัยเสี่ยงโรคพาร์กินสัน
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter