บนสื่อสังคมออนไลน์มีข้อสงสัยเกี่ยวกับสัญญาณของโรคพาร์กินสัน มีอาการอะไรบ้าง และจะมีวิธีการรักษาอย่างไร
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
“พาร์กินสัน” เป็นโรคที่มีการเสื่อมของระบบประสาท เริ่มต้นที่ศูนย์ควบคุมการเคลื่อนไหว ส่วนใหญ่อยู่ที่บริเวณก้านสมอง ทำให้การผลิตสารสื่อประสาทสำคัญ ที่เรียกว่า “โดพามีน” ลดลง ผู้ป่วยจะมีอาการ ดังนี้
1. อาการสั่น (Tremor)
2. อาการแข็งเกร็ง (Rigidity
3. อาการเคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia) หรือเคลื่อนไหวน้อย (Hypokinesia)
4. เดินลำบาก มีการทรงตัวที่ไม่มั่นคง (Postural instability)
ถือว่าเป็น 4 อาการหลักทางด้านการเคลื่อนไหว จริง ๆ มีอาการที่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวอีกหลายอาการเตือนก่อนที่จะมีอาการพาร์กินสันก็มีมากมายเช่นเดียวกัน
สัญญาณอาการเตือนโรคพาร์กินสัน มีอะไรบ้าง
อาการเตือนหลัก ๆ มีดังนี้
1. การนอนละเมอ
2. ท้องผูก
3. ดมกลิ่นไม่ได้
4. ภาวะซึมเศร้า
ไม่ใช่ทุกคนที่มีอาการเหล่านี้จะต้องเป็นพาร์กินสันในอนาคต
เวลาดูเรื่องของอาการเตือน จะดูว่าหลาย ๆ อาการเพิ่มขึ้นตามเวลา บวกกับปัจจัยเสี่ยงด้วยหรือไม่
อาการเริ่มต้นของ “พาร์กินสัน”
อาการที่สังเกตง่ายที่สุดคืออาการ “สั่น” แต่อาการสั่นก็ไม่จำเป็นจะต้องเกิดในผู้ป่วยพาร์กินสันทุกราย
สำหรับอาการสั่นในผู้ป่วยพาร์กินสันมีลักษณะเฉพาะ คือเริ่มสั่น “ข้างเดียว” ส่วนใหญ่เป็นที่มือ (ขณะที่มืออยู่เฉย ๆ)
อาการสั่นมักจะเกิดร่วมกับการเคลื่อนไหวที่ช้าลงและยากขึ้นในส่วนที่มีอาการสั่น อย่างเช่น ผู้ป่วยบางรายที่มีมือสั่น แขนก็จะไม่ค่อยแกว่ง นี่เป็นอาการเริ่มต้นทางการเคลื่อนไหว ถ้ามีอาการเหล่านี้บวกกับเรื่องอาการเตือน (นอนละเมอ ท้องผูก ดมกลิ่นไม่ได้ ซึมเศร้า) ความเป็นไปได้ยิ่งเพิ่มขึ้น
ผู้ป่วยพาร์กินสันอายุน้อย ไม่พบอาการสั่นตั้งแต่แรก ?
แปลกมากที่ผู้ป่วยพาร์กินสันอายุน้อยมักจะไม่สั่น พอไม่สั่นก็จะไม่นึกถึงโรคพาร์กินสัน เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์ก็ไม่นึกถึง
ผู้ป่วยพาร์กินสันอายุน้อยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการ “เกร็ง” เคลื่อนไหวช้าด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคของกล้ามเนื้อ เป็นโรคออฟฟิศซินโดรม รักษาสักพักอาการไม่ดีขึ้น อาการเพิ่มมากขึ้นถึงได้ถูกวินิจฉัยเป็นโรคพาร์กินสัน
โรคพาร์กินสันสามารถรักษาให้หายขาดได้ไหม ?
ในปัจจุบันยังไม่หายขาด แต่ว่ารักษาได้
โดยส่วนใหญ่การรักษาหลักคือ “ยา”
ปัจจุบัน มีวิธีการให้ยาหลากหลายรูปแบบ ยาส่วนใหญ่ก็ยังเป็นยากิน และยาที่แพทย์ให้ก็จะเป็นการเติมสารโดพามีน โดยการเติมให้ใกล้เคียงกับคนปกติ และทำให้โดพามีนอยู่ยาวขึ้น และติดตามดูว่าอาการผู้ป่วยดีขึ้นมั้ย ทำกิจวัตรประจำวันอะไรได้หรือเปล่า นี่คือเทคนิคการปรับยากินให้ผู้ป่วย
ปัจจุบันการรักษาโรคพาร์กินสันมีหลายวิธีที่ต้องปรึกษาแพทย์ ยาแปะผิวหนัง ยาฉีด การผ่าตัดสมอง หรือการกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็ก ซึ่งเป็นทางเลือกและต้องพูดคุยกับผู้ป่วย
ความเสี่ยงของผู้ป่วยคืออะไร บางอาการของพาร์กินสันไม่ได้เกิดจากสารโดพามีนเสมอไป หรือบางอาการเมื่อเติมสารโดพามีนเข้าไปก็ไม่ตอบสนอง
อาการที่เห็นชัดเจนคือ อาการเดินติด ก้าวเท้าไม่ออก ผู้ป่วยเดินซอยเท้าถี่ ๆ ยกขาไม่ขึ้น การที่ลำตัวโน้มไปข้างหน้าทำให้ล้ม แต่ว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้เวลาเห็นอะไรที่อยู่ข้างหน้า เขาจะก้าวเดินได้ แนวคิดทางการแพทย์เป็นการบอกแนะแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของไม้เท้าเลเซอร์ หูฟัง หรือรองเท้าพาร์กินสันที่มีตัวกระตุ้นใต้รองเท้า ช่วยให้ผู้ป่วยเดินได้ดีขึ้น
ตัวผู้ป่วย ความสำเร็จของการ “รักษา” พาร์กินสัน
ผู้ป่วยพาร์กินสัน เมื่อเริ่มได้รับยาอาการจะดีขึ้น
ผู้ป่วยบางรายเริ่มเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองหายแล้ว การกินยาพาร์กินสันไม่สม่ำเสมอและเริ่มลดลง
โรคพาร์กินสันมีมานานมากกว่า 200 ปี ผู้ป่วยปัจจุบันก็ไม่ใช่คนแรกที่คิดแบบนี้ (คิดว่าตัวเองหายแล้ว) และเรื่องการหยุดยาไม่มีทางสำเร็จถ้าเป็นพาร์กินสันจริง ๆ
ขอเน้นว่าผู้ป่วยพาร์กินสันรักษาแล้วอาการต้องดีต่อเนื่อง ด้วยการกินยาต่อเนื่อง ออกกำลังกายต่อเนื่อง… อย่าคิดว่าหายดีจากพาร์กินสันแล้วและหยุดทุกอย่าง
กังวลว่าเป็นโรคพาร์กินสัน หรือไม่ ?
“พาร์กินสัน” เป็นโรคที่แพทย์ต้องทำการวินิจฉัย
การให้ความรู้เรื่องโรคพาร์กินสันเพื่อให้ทุกคนตื่นตัว ไม่ใช่ตื่นตระหนก
เรามีความรู้เพิ่มขึ้น มีความเข้าใจโรคพาร์กินสันมากขึ้น สำรวจตัวเอง สังเกตอาการตัวเอง
ถ้ามีอาการต่าง ๆ สงสัย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจ
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมสธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ
ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : อาการและการรักษาโรคพาร์กินสัน
ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : รู้จักโรคพาร์กินสัน
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter