ตาแฉะเกิดจากสาเหตุใด เป็นสัญญาณของโรคทางตาหรือไม่ และจะต้องดูแลอย่างไร
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ศาสตราจารย์วุฒิคุณ นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานวิชาการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
“ตาแฉะ” ภาวะที่คนเรารู้สึกว่ามีน้ำออกมาจากดวงตา จริง ๆ แล้วก็คือ “ขี้ตา” นั่นเอง
ปกติ “สี” หรือลักษณะขี้ตา อาจจะบอกถึงโรคหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะตาแฉะได้
1.ตาแฉะ : ติดเชื้อไวรัส
มีอาการระคายเคืองบริเวณดวงตา และไวรัสที่บริเวณเยื่อบุตาขาวทำให้เกิดการอักเสบและมีน้ำตาใส ๆ ออกมาค่อนข้างมาก
2.ตาแฉะ : ติดเชื้อแบคทีเรีย
คนที่ตาแฉะและมีขี้ตาสีเขียว เหลือง หรือขาวข้น เป็นลักษณะที่บอกถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย
ภาวะติดเชื้อบริเวณเยื่อบุตาหรือตาแดง ไม่ว่าจะเป็นจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย เกิดจากการสัมผัสโดยตรงจากการที่ถูกน้ำตาหรือตาของผู้ป่วยมาก่อน การใช้ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัวร่วมกัน ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อ
นอกจากนี้ ในคนที่เป็นหวัดจากเชื้อไวรัส มีน้ำมูกใส หรือในคนที่เป็นหวัดมีน้ำมูกเขียวหรือเหลือง และเชื้อติดบริเวณดวงตาของตัวเอง จะทำให้เยื่อบุตาอักเสบไปพร้อม ๆ กับโรคหวัดได้
3.ตาแฉะ : ภูมิแพ้ขึ้นตา
คนที่มีภูมิแพ้ขึ้นตา น้ำตาหรือขี้ตาที่ออกมาจะเป็นลักษณะเหนียวใส ๆ และเมื่อไหร่ที่ไปโดนสิ่งที่แพ้ (เช่น ฝุ่น เกสรดอกไม้ ขนหมา ขนแมว) กลุ่มนี้จะเป็น ๆ หาย ๆ
4.ตาแฉะ : ตาแห้ง
ในคนที่อายุมากขึ้น คนที่ทำงานใช้สายตาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือบ่อย ๆ คนที่ทำงานกลางแจ้ง อากาศแห้ง จะทำให้ตาแห้ง แต่ผู้ป่วยมักจะรู้สึกว่าตัวเองตาแฉะตลอดเวลา
หลายคนอาจจะสงสัยว่า อาการตาแห้งทำให้เกิดภาวะตาแฉะได้อย่างไร
โดยธรรมชาติจะมีน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาฉาบอยู่ตลอดเวลา น้ำที่ปรากฏประกอบด้วยส่วนที่เป็นน้ำและส่วนที่เป็นเมือก
ในคนกลุ่มนี้ น้ำฉาบลูกตาส่วนที่เป็นน้ำแห้งหายไปเหลือแต่เมือกเกาะตา ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนมีตาแฉะตลอดเวลา แต่ไม่มีน้ำตาหยด
5.ตาแฉะ : น้ำตาระบายออกไม่ได้ (พบในเด็กแรกเกิด)
น้ำตาระบายออกไม่ได้พบในเด็กช่วงอายุ 1 เดือนแรก อาจมีตาแฉะ มีขี้ตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง เกิดจากน้ำตาที่สร้างมายังระบายออกตามธรรมชาติไม่ได้ แนะนำว่าควรพาเด็กไปพบจักษุแพทย์
ตาแฉะข้างเดียว เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ส่วนใหญ่อาการตาแฉะหรือการติดเชื้อจะเริ่มที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อน ถ้าคนนั้นมีการรักษาความสะอาดที่ดีก็อาจจะหายอยู่ที่ตาข้างนั้น แต่บ่อยครั้งมีการสัมผัสขี้ตาข้างที่เป็นไปถูกตาอีกข้างหนึ่ง กลายเป็นตาแฉะหรือติดเชื้อทั้ง 2 ข้างได้
การรักษา “ตาแฉะ”
ถ้าภาวะตาแฉะเกิดจากเมือกที่ไปเกาะบริเวณดวงตา เพราะน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาแห้ง การรักษาที่ดีที่สุดก็คือการหลีกเลี่ยงอากาศร้อน อากาศแห้ง หรือการใช้สายตาเป็นระยะเวลานาน ๆ ร่วมกับการใช้น้ำตาเทียมหยอดตา ก็จะช่วยทำให้อาการตาแฉะจากเมือกที่เกาะตาดีขึ้น
การรักษา “ตาแฉะ” จากการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส การหยอดยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยาต้านฮิสทามีนแก้อาการเคืองตา จะทำให้อาการเคืองตาจากตาแฉะดีขึ้นและหายไปในที่สุด
การดูแลและสังเกตอาการตาแฉะ
1. ปลูกฝังลักษณะนิสัยไม่นำมือที่ไม่สะอาดไปสัมผัสดวงตา และต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
2. หากมีอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง อาการตาแฉะอาจจะทำให้การมองเห็นไม่ชัด อาจแสดงถึงโรคอื่นของดวงตาได้ แนะนำให้ไปพบจักษุแพทย์
อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตา เป็นสัญญาณให้เราต้องดูแลและรักษา ดีกว่าปล่อยไว้ให้สายเกินไป
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ…
ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : ตาแฉะ
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter