กรุงเทพฯ 2 เม.ย. –หุ้น APO เปิดเทรดวันแรกใน mai ที่ราคา 1.74 บาท เพิ่มขึ้น 0.75 บาท จาก IPO ที่ 0.99 บาท หรือเพิ่มขึ้น 75.76% ชี้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มดิบยังขยายตัว 8-9% ต่อปี
บริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ APO เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายใต้กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ในวันนี้ (2 เม.ย.2567) โดยใช้ ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “APO” เปิดการซื้อขายวันแรกที่ราคา 1.74 บาท เพิ่มขึ้น 0.75 บาท หรือ 75.76% จากราคาไอพีโอ 0.99 บาท มูลค่าการซื้อขาย 248 ล้านบาท
APO ประกอบธุรกิจสกัดน้ำมันปาล์มดิบเพื่อจำหน่ายให้แก่กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันปาล์มดิบในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และผลพลอยได้ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพเพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ราคา IPO ที่ 0.99 บาท คิดเป็นมูลค่าการเสนอขาย IPO 99 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 336.60 ล้านบาท ทั้งนี้ การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO พิจารณาอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio) เท่ากับ 25.92 เท่า
นายสิทธิภาส อุดมผลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชียนน้ำมันปาล์ม (APO) เปิดเผยว่าทิศทางการดำเนินงานปี 2567 ตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้ไม่ต่ำกว่า 10% และมีความสามารถการทำกำไรที่ดีขึ้น โดยบริษัทมีแผนขยายฐานลูกค้ามากขึ้น ทั้งในกลุ่มผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค โรงกลั่นน้ำมันปาล์มดิบ กลุ่มจัดหาและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ (Trader) และฐานลูกค้าเดิมที่จะทำสัญญาซื้อขายระยะยาวเพื่อสร้างความมั่นคงในอนาคตจึงระดมทุนปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เปลี่ยนเครื่องจักรหม้อนึ่งจากแนวนอนเป็นแนวตั้ง เพื่อให้ได้น้ำมันที่มีคุณภาพดี และลดต้นทุนในระบบผลิต คาดว่าจะปรับปรุงแล้วเสร็จพร้อมดำเนินงานได้ภายในปี 2568 ซึ่งบริษัทวางกลยุทธ์การผลิตน้ำมันปาล์มดิบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สภาพอากาศ และภาวะเศรษฐกิจอยู่เสมอ ทั้งนี้ ในปี 2566 บริษัทมีอัตราการใช้กำลังการผลิต (Utilization Rate) เฉลี่ยอยู่ที่ 53.86% ปริมาณทะลายปาล์มสดที่เข้าสู่กระบวนการผลิต 232,655 ตัน โดยบริษัทมีกำลังการผลิตสูงสุด (Maximum Capacity) อยู่ที่ 432,000 ตัน นอกจากนี้การปรับปรุงดังกล่าวยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่เงินระดมทุนที่เหลือจะเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับขยายธุรกิจ
ขณะเดียวกัน บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสทางธุรกิจทั้งต้นน้ำ และปลายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้ครบวงจรยิ่งขึ้น ตั้งแต่ด้านการจัดหาวัตถุดิบ การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ปาล์มที่ให้ผลผลิตคุณภาพสูง การเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการผลิตให้หลากหลาย เช่น การต่อยอดธุรกิจจากผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ การผลิตน้ำมันเมล็ดในปาล์ม ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต
“อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มดิบยังมีแนวโน้มขยายตัว 8-9% ต่อปี ขณะที่อุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขยายตัว 10-11% ต่อปี ส่วนไบโอดีเซลที่ใช้นำมันปาล์มดิบเป็นวัตถุดิบขยายตัว 6-7% ต่อปี โดยมีปัจจัยจัยการขยายตัวเศรษฐกิจ และอีคอมเมิร์ช ที่ใช้ในการขนส่งมากขึ้น” นายสิทธิภาส กล่าว.-516-สำนักข่าวไทย