รัฐสภา 25 มี.ค. – “รมว.กต.-รมว.พลังงาน” ยืนยันปมพื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทยระหว่างไทย-กัมพูชา ต้องเจรจาคู่ผลประโยชน์ชาติ ย้ำไม่นำทรัพยากรชาติแลกดินแดน
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา ในการอภิปรายทั่วไปรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ถึงการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยระหว่างไทย และกัมพูชา ซึ่งเป็นปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินด้านพลังงาน ตามคำสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เกิดขึ้นอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2513 จนกระทั่งไทย และกัมพูชา ไม่สามารถตกลงเขตไหล่ทวีปได้ โดยที่กัมพูชาได้กำหนดเส้นไหล่ทวีปในปี 2515 และไทยกำหนดในปี 2516 ซึ่งไม่ตรงกัน ต่อมาในปี 2544 ได้มีการลงนาม MOU44 ระหว่างรัฐบาลไทย และกัมพูชา โดยมีคณะกรรมการร่วมฯ ซึ่งในปี 2557 รัฐบาลที่ผ่านมา ได้อนุมัติการเจรจา บนพื้นฐาน MOU44 แต่ที่การเจรจาที่ไม่เสร็จสิ้น และยาวนานนั้น เพราะเนื้อหาการเจรจาซับซ้อน และอ่อนไหว รวมถึงปัญหาการเมืองภายใน และระหว่างประเทศ เนื่องจาก เกี่ยวข้องกับดินแดน และผลประโยชน์ชาติ และปัจจุบัน ยังไม่มีคณะกรรมการด้านเทคนิคมาพิจารณาการดำเนินการต่อตาม MOU ว่า จะดำเนินการต่อไปหรือไม่ แต่ส่วนตัวยืนยันว่า การเจรจา จะต้องเจรจาควบคู่กันไปกับประเด็นผลประโยชน์ประเทศชาติ แต่เบื้องต้น กระทรวงการต่างประเทศ ยังไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือให้ความเห็นเพราะคณะกรรมการฯ ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี
นายปานปรีย์ ยังย้ำด้วยว่า รัฐบาลยืนยันเขตหลักทะเล เส้นลากผ่านทับเกาะกูด เพราะหนังสือยืนยันระหว่างกรุงสยาม กับกรุงฝรั่งเศส ระบุชัดเจนว่า รัฐบาลฝรั่งเศส ยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้าย และเมืองตราด กับเกาะทั้งหลายตั้งแต่แหลมสิงห์ จนถึงเกาะกูดให้กับกรุงสยาม ดังนั้น เกาะกูดต้องเป็นของไทยแน่นอน และการแบ่งเขตไหล่ทวีป จะต้องดำเนินการให้ชัดเจน บนกรอบการเจรจาที่เหมาะสม
นายปานปรีย์ ยังให้ความมั่นใจด้วยว่า การขายชาติเสียดินแดน ละเมิดอธิปไตยนั้น จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะรัฐบาล มีความรักชาติเท่ากัน ไม่มีใครคิดนำชาติ หรือดินแดนไปยกให้ใครทั้งสิ้น และกระบวนการเจรจาต่าง ๆ เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว เรื่องจะต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาอีกครั้ง หากมีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง ก็เชื่อว่า รัฐบาลจะไม่ให้ความเห็นชอบ
เช่นเดียวกับ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า ไม่ว่าจะตน หรือนายปานปรีย์ และนายกรัฐมนตรี หวงดินแดนไทย และยืนยันว่า เมื่อตนเป็นรัฐมนตรีพลังงาน จะไม่นำทรัพยากรชาติ ไปแลกเส้นเขตแดน แม้จะทราบว่า ปัญหาพลังงานเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ที่จะต้องเตรียมความพร้อม พร้อมขอให้มั่นใจว่า ไม่มีสิ่งใดสำคัญกว่าเอกราช และอาณาเขตของชาติไทย
ทั้งนี้ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายถึงประเด็นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งเห็นว่า ขณะนี้ มี 3 แนวทาง คือ การแยก MOU โดยแบ่งผลประโยชน์ขุมทรัพย์ใต้ทะเลโดยพักเรื่องเขตแดนก่อน การแบ่งพื้นที่เป็นสองส่วน โดยใช้ละติจูด 11 องศาเหนือ เพื่อที่แบ่งเขตแดนข้างบน แบ่งผลประโยชน์ข้างล่าง โดยดำเนินการพร้อมกันไม่อาจแบ่งแยกได้ และการตกลงเขตด้านสำนักงานตลอดแนวก่อนที่จะแบ่งผลประโยชน์ ดังนั้น จึงเรียกร้องว่า รัฐบาลจะตัดสินใจใด ๆ จะต้องรับผิดชอบต่อบรรพบุรุษไทย และรับผิดชอบต่อลูกหลานไทยด้วย พร้อมเห็นว่า การเจรจาเรื่องเขตแดน และผลประโยน์ จะต้องทำไปพร้อมกัน ให้รู้เรื่องตลอดแนวก่อน ถึงค่อยตกลงผลประโยชน์ .-312-สำนักข่าวไทย