รัฐสภา 21 มี.ค.-ก้าวไกลหั่นงบกระทรวงทรัพย์ฯ 10 เปอร์เซ็นต์ กังขางบเบี้ยประชุมสูงลิ่ว โครงการสร้างพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าฯ งบ 4 พันล้าน แพงกว่าอาคารทั่วไป 4 เท่า คาใจจัดซื้อ-จ้าง จวกแก้ PM2.5 ล้มเหลว
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ในวาระที่สอง เรียงตามรายมาตรา จำนวน 41 มาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นวันที่ 2 ในการพิจารณามาตรา 17 งบประมาณกระทวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 15,025,964,400 บาท
นายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี สส.นครสวรรค์ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ในฐานะอนุกรรมาธิการฯ มีข้อสงสัยหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรฯ 2 หน่วยงาน คือ สำนักนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งได้รับงบประมาณ 1,002.5 ล้านบาท เป็นงบดำเนินการ 152 ล้านบาท งบลงทุน 45 ล้านบาท งบอุดหนุน 760 ล้านบาท งบรายจ่าย 43 ล้านบาท โดยตั้งข้อสังเกตงบประมาณ 24.61 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบเบี้ยประชุม กรรมการ อนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม คณะกรรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นต้น เนื่องจากในรายงานไม่มีรายละเอียดจำนวนครั้งในการประชุมจึงเข้าไปดูในรายงานประจำปีของหน่วยงานนี้ในปี 65 พบว่ามีการประชุมเพื่อพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จำนวน 725 ครั้ง และมีการประชุมรวม 230 ครั้ง หมายความว่าใช้งบประมาณเฉลี่ยในการประชุมครั้งละ 1 แสนบาท/ครั้ง/วัน ตนถามผู้ที่มาชี้แจงได้ทราบว่ามีค่าเบี้ยประชุมสูงถึง 2,500- 1 หมื่นบาท/คน/วัน ซึ่งในอนุกรรมการฯ ขณะที่เราประชุมกันเบี้ยประชุมเพียง 800 บาท/คน/วัน ตนคิดว่าน่าจะประหยัดงบประมาณนี้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์หากใช้งบอย่างเหมาะสมในการประชุม ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูงสุดที่กำหนดไว้
นายกฤษฐ์หิรัญ กล่าวว่า ส่วนอีกหน่วยงานคือสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ หน่วยงานนี้ได้รับงบประมาณ 1,682 ล้านบาท เป็นงบดำเนินงาน 133 ล้านบาท งบลงทุน 592 ล้านบาท มีการปรับลดชั้นกรรมาธิการฯ เพียง 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบระบบคอมพิวเตอร์ แต่มีโครงการหนึ่งซึ่งเป็นงบผูกพันปี 66-70 ใช้ชื่อแผนอย่างสวยหรูว่าแผนงานพื้นฐานด้านการจัดการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ความรู้เรื่องไม้มีค่าเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินเฉลิมพระเกียรติอันเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
“จากการชี้แจงอนุกรรมาธิการฯ แบ่งเป็น 2 โครงการ ในเฟสแรก เป็นงานก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ 1,230 ล้านบาท และเป็นงานก่อสร้างเฉพาะอาคาร ค่าควบคุมงานก่อสร้าง 21 ล้านบาท ตนเห็นชื่อโครงการนี้จากข่าวเมื่อเดือน มิ.ย. 66 ว่ามีมูลค่าการก่อสร้าง 2,000 ล้านบาท ในพื้นที่ 2,550 ตร.ม.ประเมินเบื้องต้นอยู่ที่ ตร.ม. ละ 8.1 หมื่นบาท แพงแค่ไหนนั้นตนเปรียบเทียบกับโครงการที่ใกล้เคียงกัน เป็นอาคารห้างสรรพสินค้าที่มีค่าก่อสร้าง 2.1 หมื่นบาท/ตร.ม. ถือว่าแพงมากกว่าการก่อสร้างอาคารทั่วไปถึง 4 เท่า ซึ่งน่าจะปรับลดได้มากกว่านี้หากมีการจัดซื้อจัดจ้างที่เหมาะสม” นายกฤษฐ์หิรัญ กล่าว
นายกฤษฐ์หิรัญ อภิปรายว่า โครงการนี้อนุมัติตั้งแต่ปี 2557 ตั้งแต่หลังการรัฐประหารใหม่ ๆ รัฐบาล คสช. ได้อนุมัติโครงการนี้และมีมติ ครม. 4 ม.ค. 65 ให้กระทรวงทรัพยากรฯ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ จากนั้น ครม.อนุมัติงบ 4,055 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้าง เป็นงบผูกผันปี 66-70 ซึ่งตนสงสัยว่าการประมูลก่อสร้างครั้งนี้โปร่งใสหรือไม่ เนื่องจากพบว่าผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารรายนี้รับงานก่อสร้างจากหน่วยงานรัฐจำนวนมากกว่า 1,529 โครงการ หรือ 1,460 ล้านบาทใน 7 ปี
“แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาอาจจะเป็นเพราะความสามารถของผู้บริหารโครงการ แต่ข้อมูลที่เราได้รับเพิ่มเติม เฉพาะในกทม. มี 181 โครงการ จากทั้งหมด 888 โครงการ ที่บริษัทนี้ได้รับไป สังเกตว่ามีความปกติกว่า 1 ใน 5 จึงฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย อีกทั้งพบว่าบริษัทนี้ไม่ได้ซื้อซองเข้าเสนองาน แต่ได้งานในช่วงปี 62-63 จำนวนมาก ดังนั้นตนจึงขอให้ทบทวนปรับค่าก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์องค์ความรู้ไม้มีค่าฯ นี้ ที่จะมีในเฟสที่ 2 เพราะเราไม่สามารถปรับลดในเฟซแรกได้ เฟสที่สองในเรื่องของการตกแต่งภายในอยากให้ใช้งบประมาณที่เหมาะสมมากกว่านี้ สุดท้ายตนขอยืนยันให้ปรับลดงบ 67 มาตรา 17 ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรฯ ทั้งหมด 10 เปอร์เซ็นต์ของโครงการ” นายกฤษฐ์หิรัญ กล่าว
นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่กระทรวงทรัพยากรฯ ไม่ให้ความสำคัญ ทำให้ปัญหามีความรุนแรงขึ้น รวมถึงการเกลี่ยงบประมาณภายในหน่วยงานที่ไม่เป็นธรรม ไม่ให้งบประมาณอย่างเพียงพอกับหน่วยงานที่มีหน้าที่แก้ปัญหาภัยแล้งว่า งบกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ถูกปรับลดลงเหลือ 870ล้านบาท ถูกตัดทิ้ง ทั้งที่ประเทศมีวิกฤติเรื่องน้ำ แต่กลับไม่ติดอาวุธให้หน่วยงาน ขณะที่งบกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่วแวดล้อมมีความทับซ้อนกับกรมควบคุมมลพิษ มีแต่งบงานอีเวนต์เป็นตัวตั้ง ที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ควรเน้นเป้าหมายเรื่องการบรรลุยุทธศาสตร์ในการลดก๊าซเรือนกระจกให้ชัดเจน
ขณะที่นายจักรวาล ชัยวิรัตน์กูล สส.สุโขทัย พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า กระทรวงทรัพยากรฯ เกลี่ยงบไม่สมดุล กรมอุทยานแห่งชาติฯได้งบ 5,600ล้านบาท ทั้งที่มีรายได้จากการเก็บค่าเข้าอุทยานมากอยู่แล้ว มีรายได้ต่อปี 1,000ล้านบาท แต่กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่มีส่วนสำคัญแก้ปัญหาภัยแล้ง กลับได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ อย่างกรมป่าไม้ มีอุปกรณ์ดับไฟป่าแค่ไม้กวาด เครื่องเป่าลม ควรได้รับงบเพิ่มเพื่อไปซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่าที่ทันสมัย
ส่วนนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะกมธ.ชี้แจงว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาฝุ่นPM2.5 แก้ไขปัญหาอยู่ตลอดเวลา แต่เรื่องฝุ่นPM2.5เป็นเรื่องส่วนรวม ประชาชนต้องให้ความร่วมมือ ถ้าให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงฯเพียงอย่างเดียว การแก้ปัญหาจะใช้เวลานาน หลังจากสส.อภิปรายมาตรา 17ครบถ้วน แล้วที่ประชุมลงมติเห็นชอบมาตราดังกล่าว.-312.-สำนักข่าวไทย