องค์การอนามัยโลกยืนยัน “วัคซีนโควิด” ใช้ได้ผล ช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้
ตั้งแต่สาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 จนถึงวันนี้ พ.ศ. 2567 ขึ้นปีที่ 5 แล้ว องค์การอนามัยโลก (WHO) มีการรายงานข้อมูล COVID-19 ไว้ว่าตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อแล้วทั้งสิ้น 774 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่า 7 ล้านคน
ถึงแม้ทั่วโลกจะผ่านระยะการระบาดหนักของ COVID-19 ไปแล้ว และก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 ที่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมกว่า 5 แสนคน แต่ COVID-19 ยังไม่หมดไปจากโลกนี้ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บุคคลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและมีอาการรุนแรง เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 1 เข็ม และรับเข็มต่อไปห่างจากเข็มแรก 6-12 เดือน
ประเทศไทยยังคงมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 และยังมีผู้ป่วยจำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรง ผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงผู้เสียชีวิตเพิ่มจำนวนขึ้น ทั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ JN.1 ที่ระบาดในปัจจุบัน ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่เชื้อมีความสามารถในการแพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้น และการป้องกันตนเองของคนหลายกลุ่มลดลง เป็นเหตุให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงประชาชนในประเทศไทยบางส่วนไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และ/หรือ ได้รับวัคซีนไม่ครบ
วัคซีนโควิด-19 : ประสิทธิภาพ ผลข้างเคียง อาการไม่พึงประสงค์
การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคโดยการฉีดวัคซีนโควิด-19 ช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 จนถึงปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วกว่า 13,000 ล้านโดส ซึ่งมีการติดตามและเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์อย่างเป็นระบบในแต่ละประเทศ ในปี พ.ศ.2564 วัคซีนโควิด-19 ช่วยป้องกันการเสียชีวิตของประชาชนกว่า 14.4 ล้านคนทั่วโลก
วัคซีนโควิด-19 ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดอาการรุนแรงและการเสียชีวิต
ทั้งนี้ ไม่มีวัคซีนชนิดใดที่ไม่มีผลข้างเคียง นานาประเทศ รวมถึงประเทศไทยมีแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศและดำเนินการมาอย่างยาวนานและมีระบบการติดตาม เฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากวัคซีนทุกชนิดที่ใช้ในประเทศ
ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนทั่วโลกบ่งชี้ว่า ผลข้างเคียงที่รุนแรงจากวัคซีนโควิด-19 พบได้น้อยมาก ทั้งนี้ข้อมูลของประเทศไทยสามารถสืบค้นได้ที่ https://eventbased-doe.moph.go.th/aefi/
กลุ่มอาการหลังติดเชื้อโควิด-19 เรารู้อะไรบ้าง ?
ผู้ป่วยโควิด-19 บางรายสามารถพบอาการภายหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 หรือเรียกว่า “ลองโควิด” โดยผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลีย หายใจไม่อิ่ม ความจำและการทำงานของสมองไม่ปกติเหมือนเดิม เช่น ภาวะสมองล้า เป็นต้น
จากข้อมูลปัจจุบันพบว่า ร้อยละ 6 ของผู้ป่วยโควิด 19 ที่แสดงอาการ มีอาการของลองโควิด และผู้ป่วยกลุ่มนี้ร้อยละ 15 อาจมีอาการนานได้ถึง 12 เดือน ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายเป็นปกติ
ความเสี่ยงของการเกิดภาวะลองโควิด มีความสัมพันธ์กับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ เพศหญิง ผู้สูงอายุ ภาวะน้ำหนักเกิน การสูบบุหรี่ การมีโรคประจำตัวและการติดเชื้อโควิดรุนแรง ซึ่งหมายรวมถึงการนอนโรงพยาบาลและการรักษา ณ หอผู้ป่วยวิกฤต ลองโควิดสามารถพบได้ในเด็กและวัยรุ่นแต่พบได้น้อยในกลุ่มวัยนี้ งานวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนสามารถป้องกันภาวะลองโควิดได้
อย่างไรก็ตาม สาเหตุการเกิดภาวะลองโควิดยังไม่ทราบแน่ชัดและอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงผลกระทบโดยตรงต่อระบบภูมิคุ้มกัน ระบบประสาทและสมอง กระบวนการอักเสบ ผลกระทบต่อไมโครไบโอม และอื่น ๆ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
องค์การอนามัยโลกสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ และข้อแนะนำต่าง ๆ จะมีการปรับปรุงและเผยแพร่เมื่อมีข้อมูลสนับสนุนอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม การรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสมจะช่วยบรรเทาอาการลองโควิด ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ผู้ป่วยลองโควิด-19 สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และติดตามการรักษาโดยสหวิชาชีพได้
ทุกคนสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างไร
องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บุคคลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและมีอาการรุนแรง เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 1 เข็ม และรับเข็มต่อไปห่างจากเข็มแรก 6-12 เดือน
นอกจากนี้ บุคคลที่ต้องติดต่อหรือสัมผัสกับกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มเสี่ยงอยู่เป็นประจำควรพิจารณารับวัคซีน ร่วมกับการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการติดเชื้ออย่างสม่ำเสมอ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การปิดปาก ปิดจมูกเมื่อไอหรือจาม และการล้างมือเป็นประจำ หากท่านไม่แน่ใจว่าท่านควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือไม่ โปรดปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์
ทำอย่างไร ? สงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19
ผู้ที่มีอาการโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยแพทย์ เพื่อการรักษาพยาบาลและการจัดการผู้ป่วยที่เหมาะสม
อัตราการเสียชีวิตของประชากรในบางประเทศสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนการระบาดใหญ่ของโควิด-19 หรือไม่
หลายประเทศพบว่าอัตราการเสียชีวิตของประชากรสูงกว่าการคาดการณ์ (ช่วงก่อนโควิด) ในบางประเทศอัตราการเสียชีวิตโดยรวมของประชากรเพิ่มขึ้น (อัตราการตายจากทุกสาเหตุ) แม้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จะลดลง
อัตราการเสียชีวิตโดยรวมที่เพิ่มขึ้นอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงอยู่ ระบบบริการสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การตรวจพบและรักษาโรคเรื้อรังต่าง ๆ ล่าช้า
ข้อมูลอ้างอิง
1 https://ddc.moph.go.th/covid19-dashboard/?dashboard=main
2 https://doi.org/10.1136/bmj-2023-076990
3https://doi.org/10.1017/ash.2023.447
4 https://doi.org/10.3390/ijerph191912422
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติม รายการชัวร์ก่อนแชร์
ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : วัคซีนโควิด 2566
ชัวร์ก่อนแชร์ : คำเตือนโควิด (2567) จาก “นายแพทย์ประสิทธิ์” (ของแท้)
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter