กรุงเทพฯ 8 ก.พ. -คปภ. เร่งส่งเสริมระบบประกันสุขภาพเอกชนของไทย หวังใช้เป็นเครื่องมือ บริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพ จัดทำคู่มือเบิกค่ารักษา
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เป็นประธานการประชุมวิชาการประจำปีเวชศาสตร์ประกันชีวิตไทย (TIMAC-2024) ครั้งที่ 19 เลขาธิการ คปภ. กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การส่งเสริมระบบประกันสุขภาพเอกชนของไทย” ว่า การประกันภัยสุขภาพ ถือเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง ที่สำคัญของผู้เอาประกันภัย ทั้ง ค่ารักษาพยาบาล กรณีผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก ค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ รวมไปถึงการประกันภัยคุ้มครองโรคร้ายแรง การซื้อประกันภัยสุขภาพ ไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล คาดหวังว่าจะได้รับการดูแล และได้รับผลประโยชน์ตามความคุ้มครองจากกรมธรรม์โดยสะดวก
ยอมรับว่า การประกันภัยสุขภาพของแต่ละบริษัท มีชื่อเดียวกันอาจให้ความคุ้มครอง แตกต่างกัน ทำให้ผู้เอาประกันภัย และ บุคลากรทางการแพทย์ เกิดความสับสน ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้ แก้ไขสัญญาประกันภัยสุขภาพให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการเทคโนโลยี และวิธีการรักษาทางการแพทย์ในปัจจุบัน จึงออกเป็นคำสั่งนายทะเบียน เรื่อง การประกันภัยสุขภาพแบบมาตรฐาน หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “New Health Standard” ขณะนี้ได้ประสานความร่วมมือกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน จัดทำคู่มือมาตรฐานการเบิกค่ารักษาพยาบาล (SIMB)
ดังนั้น การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัย มีองค์ความรู้ด้านเวชศาสตร์ประกันชีวิต เพราะจำเป็นต่อบุคลากรในภาคธุรกิจประกันภัย ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การกำหนดเงื่อนไขความคุ้มครอง การพัฒนาการบริการให้ครอบคลุมมากกว่าการคุ้มครองเมื่อเจ็บป่วย การพิจารณารับประกันภัย ตลอดจนการจ่ายค่าสินไหมทดแทน การนำการประกันภัยสุขภาพไปใช้เป็นเครื่องมือ บริหารความเสี่ยง การป้องกันการรักษาที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และเกินความจำเป็นทางการแพทย์ การคิดค่าใช้จ่ายไม่เป็นไปตามราคามาตรฐาน และการฉ้อฉลประกันภัย เป็นต้น
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. มุ่งส่งเสริมกรมธรรม์ประกันภัย ให้ความคุ้มครอง คนไทยในทุกเพศและทุกช่วงวัย ที่ผ่านมา ได้มีคำสั่งนายทะเบียน “แบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากโรคร้ายแรงส่วนบุคคล สำหรับผู้สูงอายุ แบบไม่ต้องแถลงสุขภาพ” หวังให้บริษัท เสนอผลิตภัณฑ์ ตรงกันหรือคล้ายคลึงกันกับคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
“การส่งเสริมประกันภัยสุขภาพของไทย ให้มีความสมบูรณ์ อยู่ที่การออกแบบประกันภัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพ ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนทุกระดับ สอดคล้องกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน หวังขับเคลื่อนระบบประกันภัยสุขภาพของประเทศให้เติบโต ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐด้านสวัสดิการ และเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่ช่วยสร้างหลักประกันด้านสุขภาพของประชาชนที่มั่นคง” เลขาธิการ คปภ. กล่าว .-515 สำนักข่าวไทย