สธ.31 ก.ค.-กระทรวงสาธารณสุข เปิดวอร์รูมสนับสนุนหน่วยบริการในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมให้เปิดบริการประชาชนได้ตามปกติ กำชับเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง สื่อสารความเสี่ยงประชาชนระวังการจมน้ำเสียชีวิต และโรคฉี่หนู
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม ทั้ง 19 จังหวัด ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งผู้บริหารทุกคนให้กำลังใจและขอบคุณเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทุกคนที่ให้บริการประชาชน ในขณะที่ครอบครัวก็ประสบภัยน้ำท่วมเช่นกัน ซึ่งส่วนกลางพร้อมให้การสนับสนุน ขอให้สำรวจความเสียหายรวมทั้งสิ่งที่ต้องการสนับสนุนมาที่ส่วนกลาง
นพ.โสภณกล่าวต่อว่า วันนี้ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข (วอร์รูม) ส่วนกลาง เต็มรูปแบบ มอบให้นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดฯสธ. เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ เพื่อรวบรวบข้อมูลทั้ง 19 จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม วางแผนการช่วยเหลือสนับสนุนพื้นที่ เช่น ยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ช่วยป้องกันควบคุมโรค สนับสนุนทีมแพทย์ฉุกเฉิน หรือทีมเมิร์ท (MERT) เป็นต้น
ทั้งนี้ ได้ส่งยาช่วยน้ำท่วมไปทุกจังหวัดที่ประสบภัยแล้ว ในส่วนบุคลากรขณะนี้โรงพยาบาลในจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ โรงพยาบาลอุดรธานี เลย หนองบัวลำภู บึงกาฬ และหนองคาย ส่งทีมเมิร์ทและทีมมินิเมิร์ท หมุนเวียนไปตรวจรักษาประชาชนที่ศูนย์พักพิงสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลสกลนคร
สำหรับสถานการณ์ที่จ.สกลนคร ได้รับรายงานจากผอ.โรงพยาบาลฯ ว่า ปริมาณน้ำบริเวณโดยรอบโรงพยาบาลลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่เข้าในตัวอาคาร เปิดให้บริการตามปกติ ห้องฉุกเฉินเปิด 24 ชั่วโมง ประชาชนสามารถเดินทางมารับบริการได้ ขณะนี้รถฉุกเฉินของโรงพยาบาลต่างๆ สามารถเข้ามารับ-ส่งผู้ป่วยได้ ยังคงจัดหน่วยแพทย์ให้บริการประชาชนที่ศาลากลางจังหวัดสกลนคร และศูนย์พักพิงชั่วคราวทั้ง 5 แห่ง คือ ศูนย์พักพิงโรงยิม องค์การบริหารส่วนจังหวัด ศูนย์พักพิงโรงเรียนอนุบาลสกลนคร ศูนย์พักเด็กและครอบครัว ศูนย์พักพิงวัดพระธาตุเชิงชุม
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ให้เจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยงไปยังประชาชน ป้องกันการเสียชีวิตจากการจมน้ำ โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ไม่ควรลงเล่นน้ำบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง น้ำเชี่ยว ไม่ดื่มของมึนเมา ผู้ที่มีโรคประจำตัวไม่ควรอยู่ตามลำพัง ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยเด็กให้อยู่ตามลำพัง และควรสำรวจเฝ้าระวังบริเวณบ้าน รอบบ้าน เช่น พื้นไม้ที่ผุพังหรือที่ตะใคร่ขึ้น ทางเดินบนสะพานที่ไม่แข็งแรง เป็นต้น พร้อมกันนี้ ขอให้ระวังโรคฉี่หนูที่อาจมากับน้ำท่วม หากมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หลังลุยน้ำ ย่ำโคลน ให้รีบพบแพทย์ทันที ประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง .-สำนักข่าวไทย