กรุงเทพฯ 30 ก.ค.- นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 5 – 29 กรกฎาคม 2560 ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยและน้ำไหลหลากใน 42 จังหวัด รวม 182 อำเภอ 775 ตำบล 4,064 หมู่บ้าน 1 ชุมชน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 23 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 19 จังหวัด รวม 113 อำเภอ 575 ตำบล 3,412 หมู่บ้าน แยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่
จ.สกลนคร น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสกลนคร อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอพังโคน อำเภอเต่างอย อำเภอกุสุมาลย์ อำเภอพรรณานิคม และอำเภออากาศอำนวย รวม 38 ตำบล 351 หมู่บ้าน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
จ.ร้อยเอ็ด น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 16 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสลภูมิ อำเภอจังหาร อำเภอโพธิ์ชัย อำเภอโพนทราย อำเภอสุวรรณภูมิ อำเภอทุ่งเขาหลวง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอเชียงขวัญ อำเภอศรีสมเด็จ อำเภอธวัชบุรี อำเภอจตุรพักตรพิมาน อำเภออาจสามารถ อำเภอพนมไพร อำเภอหนองพอก และอำเภอเมืองสรวง รวม 109 ตำบล 762 หมู่บ้าน
จ.นครราชสีมา น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเทพารักษ์ อำเภอชุมพวง อำเภอประทาย อำเภอสีดา อำเภอบัวลาย อำเภอโนนแดง อำเภอบัวใหญ่ และอำเภอแก้งสนามนาง รวม 41 ตำบล 2,350 หมู่บ้าน
จ.ขอนแก่น น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองขอนแก่น และอำเภอบ้านไผ่ ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,343 ครัวเรือน
จ.มหาสารคาม น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองมหาสารคาม อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย อำเภอกันทรวิชัย อำเภอนาเชือก อำเภอเชียงยืน อำเภอชื่นชม อำเภอกุดรัง อำเภอบรบือ อำเภอนาดูน อำเภอวาปีปทุม อำเภอยางสีสุราช และอำเภอโกสุมพิสัย รวม 93 ตำบล 367 หมู่บ้าน
จ.กาฬสินธุ์ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 15 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนามน อำเภอท่าคันโท อำเภอนาคู อำเภอสมเด็จ อำเภอเขาวง อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอห้วยผึ้ง อำเภอดอนจาน อำเภอยางตลาด อำเภอกมลาไสย อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอคำม่วง อำเภอร่องคำ อำเภอห้วยเม็ก และอำเภอฆ้องชัย ประชาชนได้รับผลกระทบ 920 ครัวเรือน
จ.บุรีรัมย์ น้ำไหลหลาก เข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสตึก อำเภอพุทไธสง อำเภอแคนดง อำเภอนาโพธิ์ และอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ รวม 19 ตำบล 76 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,895 ครัวเรือน
จ.มุกดาหาร น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองมุกดาหาร และอำเภอดงหลวง รวม 14 ตำบล 18 หมู่บ้าน
จ.อุบลราชธานี น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่ อำเภอน้ำยืน อำเภอน้ำขุ่น อำเภอตระการพืชผล และอำเภอบุณฑริก รวม 8 ตำบล 11 หมู่บ้าน
จ.อำนาจเจริญ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ อำเภอหัวตะพาน อำเภอลืออำนาจ อำเภอพนา อำเภอปทุมราชวงศา อำเภอชานุมาน และอำเภอเสนางคนิคม รวม 52 ตำบล 344 หมู่บ้าน
จ.ชัยภูมิ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ ประชาชนได้รับผลกระทบ 50 ครัวเรือน
จ.อุดรธานี น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านดุง อำเภอทุ่งฝน อำเภอน้ำโสม อำเภอประจักษ์ อำเภอกู่แก้ว อำเภอศรีธาตุ อำเภอพิบูลย์รักษ์ และอำเภอเมืองอุดรธานี รวม 8 ตำบล 86 หมู่บ้าน
ภาคเหนือ 1 จังหวัด ได้แก่ จ.อุตรดิตถ์ น้ำไหลหลากเข้าท่วมอำเภอทองแสงขัน ประชาชนได้รับผลกระทบ 182 ครัวเรือน
ภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่ จ.สุโขทัย ปริมาณน้ำไหลผ่านประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ อำเภอสวรรคโลก ทำให้กำแพงกั้นน้ำบริเวณวัดไทยชุมพลรั่ว จำนวน 5 จุด ส่งผลให้น้ำไหลเข้าท่วมเขตชุมชนเทศบาลเมืองสุโขทัย ปัจจุบันอุดรอยรั่วได้แล้วทั้ง 5 จุด ระดับน้ำในตลาดเทศบาลเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
จ.พิษณุโลก น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอชาติตระการ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
จ.พิจิตร น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอตะพานหิน อำเภอวังทรายพูน อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอสามง่าม อำเภอวชิรบารมี อำเภอทับคล้อ อำเภอสากเหล็ก อำเภอดงเจริญ และอำเภอโพทะเล รวม 24 ตำบล 105 หมู่บ้าน
จ.พระนครศรีอยุธยา ผลกระทบจากเขื่อนเจ้าพระยาทำให้น้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางบาล อำเภอเสนา อำเภอบางปะอิน อำเภอผักไห่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา และอำเภอบางไทร รวม 68 ตำบล 292 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,826 ครัวเรือน 28,985 คน
จ.เพชรบูรณ์ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอน้ำหนาว อำเภอหล่มเก่า และอำเภอหล่มสัก รวม 5 ตำบล 8 หมู่บ้าน
ภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ จ.ชุมพร น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าแซะ อำเภอเมืองชุมพร และอำเภอปะทิว รวม 16 ตำบล 86 หมู่บ้าน
ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด อีกทั้งจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย อย่างทันท่วงที สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป.-สำนักข่าวไทย