กรุงเทพฯ 1 ก.พ.- อดีตรองนายกฯ สมคิด เตือน “ทรัมป์ เฮจ” หวั่นเกิดปัญหาสงครามการค้า ระหว่างมหาอำนาจโลก ยอมรับปัญหาการเมืองฉุดเศรษฐกิจไทย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “ฝ่าเศรษฐกิจ ปีงูใหญ่ ชวนสร้างไทยให้ยั่งยืน” ในหัวข้อ “จับชีพจรประเทศไทย” จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ว่า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก สำคัญมากในยุคปัจจุบัน สงครามการค้าของแต่ละภูมิภาคยังรุนแรง ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความรุนแรงตะวันออกกลาง ปัญหาทะแดงกระทบากรขนส่งสินค้า ปัจจัยนอกประเทศ ทั้งการเลือกตั้งไต้หวัน เป็นประเด็นหนึ่งในการเขย่าจึน สิ่งน่าจับตา คือ การเมืองในสหรัฐเตรียมการเลือกตั้ง “ทรัมป์” อาจกลับมาอีกครั้ง การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ อาจกระทบต่อการส่งออกไทย จากอุปสรรคการตั้งกำแพงภาษี การกีดกันทางการค้า ของจีนและสหรัฐ ทั่วโลกจึงต้องระวัง “ทรัมป์ เฮจ” เป็นความเสี่ยงอาจกลับไปมีปัญหากับจีนมากขึ้น จากนี้ไปไทย อาจคุยไม่ได้ทั้งสองฝั่ง อาจบีบบังคับให้ไทยต้องเลือกทาง คุยกับฝ่ายใดหนึ่งมากขึ้น
แม้ว่าเศรษฐกิจ สหรัฐ จีน อินเดียดีขึ้น มองว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะดีขึ้นตาม แต่สถานการณ์กลับไม่เหมือนเดิมตามที่คาดการณ์ เวิลด์แบงก์ ไอเอ็มเอฟ ปรับจีดีพีโลก 2 ครั้งต่อปี นับว่าอนาคตทำนายกันยากมากขึ้น เพราะความผันผวนของปัจจัยต่างๆ ภาคธุรกิจต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพราะเริ่มมีสัญญาณ เติบโตแบบต่ำลงทุกขณะ หากนำฐานข้อมูลทุก 5 ปี มาพิจารณา มองว่าในปี 67 นี้ จะเป็นปีอ่อนแอสุด ไอเอ็มเอฟคาดจีดีพีโลก ขยายตัวร้อยละ 3.1 แม้จะมองว่าสหรัฐเติบโตขึ้น แต่กลับชะลอลง นับว่ายังดีที่ไม่รุนแรง ในปีนี้คาดว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยอีก เพื่อดูแลเงินเฟ้อของสหรัฐ
สำหรับ จีนมีปัญหาเศรษฐกิจหนัก หากตลาดหุ้นจีนหายไปร้อยละ 30 คนจบใหม่ไม่มีงานทำ “สีจิ้นผิง” ต้องทุ่มเท ดันให้ได้จีดีพีโตร้อยละ 4.5 ส่วนญี่ปุ่น ตลาดหุ้นเริ่มกลับมา เพราะมุ่งพัฒนาหลายด้าน หากมองผิวเผิน จึงมองว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะดีตามไปด้วย ขณะที่อินเดียเศรษฐกิจเติบโตสูงมาก น่าเกรงขาม ประชากรครึ่งหนึ่งอายุน้อยกว่า 25 ปี คนหนุ่มสาวมีการศึกษาดีมาก เริ่มบริโภคดี มีกำลังซื้อ อินเดียว แก้ไขกฎหมายหลายด้าน พัฒนาเศรษฐกิจสูงมาก โอกาสของอาเซียนจึงมีศักยภาพสูง แต่โอกาสเกิดขึ้นกับประเทศไทยจะใช้โอกาสให้เป็น
ส่วนเศรษฐกิจไทยยอมรับว่าเศรษฐกิจเริ่มอ่อนแอ เพราะไทยยังเดินไปข้างหน้าช้ามาก ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เติบโตอย่างก้าวกระโดด พัฒนาอุตสหากรรมแห่งอนาคต ตลาดหุ้นขยับขึ้นตลอด อินโดนิเซีย กลายเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจ มาเลเซีย มุ่งนโยบายเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว นับว่าอาเซียนทุกประเทศปรับตัวเร็วมาก รัฐบาลจึงต้องทำให้ไทยเป็นที่สนใจจากต่างชาติ ไทย จึงต้องยึดเกาะนโยบาย เส้นทางสายไหม (New Silk Raod Economic belt) ของจีน เพราะจีนยังใช้ไทยเป็นประโยชน์ เชื่อมต่อการค้าไปสู่ภายนอก
ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจเติบโตต่ำ Low Growth จึงต้องดูปัจจัยพื้นฐานของไทย ที่มีศักยภาพแข่งขัน เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล หรือ AI อุตสาหกรรมแห่งอนาคต การใช้เทคโนโลยีต้องกระจายไปทุกจังหวัด ไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดน้อยมาก ตลาดของผู้สูงอายุจึงมีโอกาส ไทยยังเผชิญปัญหาฝุ่น PM 2.5 นับว่ากระทบไปหลายส่วน ทั้งการท่องเที่ยว ภาคเศรษฐกิจ ยอมรับว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทย มาจากปัญหาการเมือง การแบ่งสี แบ่งค่าย มุ่งยึดฐานเสียงในทุกรูปแบบ รัฐบาลต้องผลักดันนโยบายระยะยาว แม้จะมีมาตรการระยะสั้นบ้าง เมื่อไทยต้องพัฒนาโครงสร้างระยะยาว จึงเป็นห่วง หารผลักดันเขตอีอีซี ที่ไม่ได้รับการดูแลสานต่อ จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่สนใจ หากเป็นแบบนี้ โครงการแลนด์บริด อาจมีปัญหาได้
“การบริหารเศรษฐกิจปัจจุบันต้องยึดหลักยุติธรรม ธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ความเชื่อมั่น ความเชื่อใจ ปัญหาการเมือง ยอมรับว่าเศรษฐกิจถดถอย ล้วนมาจากสิ่งเหล่านี้ ไทยกำลังเดินไปสู่จุดที่มีความเสี่ยง เพราะหากจีดีพีปี 66 ขยายตัวร้อยละ 1.8 คงต้องเตรียมน้ำแข็งโป๊ะหัว จึงต้องเตรียมรับมือกับปัญหาเติบโตต่ำ จึงต้องมุ่งเน้นโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน” นายสมคิด กล่าว.-515-สำนักข่าวไทย