ภาวะตามัวมีกี่แบบ อันตรายหรือไม่ และเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
🎯 ตรวจสอบกับ ศาสตราจารย์วุฒิคุณ นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานวิชาการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
คำว่า “ตามัว” หมายถึงภาวะที่การมองเห็นไม่ชัด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ตามัวชั่วคราว และตามัวถาวร
ตามัวชั่วคราว
ตามัวชั่วคราวพบบ่อยในคนนี้มีตาแห้ง บางจังหวะรู้สึกเหมือนมองภาพไม่ชัด พอกะพริบตาก็อาจจะดีขึ้น หรือขยี้ตาเบา ๆ ก็ดีขึ้น
อีกกลุ่มเกิดจากการใช้สายตามาก ๆ เช่น คนที่ทำงานอยู่กับคอมพิวเตอร์หรือเล่นมือถือทั้งวัน บางขณะมองภาพโฟกัสไม่ได้เลยเพราะตาล้า
ในคนที่มีโรคอย่างอื่นของระบบอื่นร่วมด้วย เช่น ไมเกรน หรือมีความไม่สมบูรณ์ของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณสมองที่เกี่ยวกับการมองเห็นก็อาจจะเกิดตาพร่ามัวชั่วคราวหลาย ๆ วินาทีและก็กลับมามองเห็น จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาจากแพทย์เฉพาะทางอย่างถูกต้อง
มีอาการ “หน้ามืด” เกี่ยวข้องกับ “ตามัว” ด้วย ที่เรียกกันว่าภาวะ “หน้ามืดตามัว” ซึ่งอาจจะเกิดจากความเหน็ดเหนื่อย หรือระดับน้ำตาลในเลือดตก หรือมีการบีบตัวของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณสมองบางส่วน ก็อาจจะทำให้เหมือนการมองเห็นภาพโทนสีมืดลงและก็อาจจะเป็นลมได้ พวกนี้มักจะไม่ได้เป็นอาการจากดวงตาโดยตรงแต่ว่าอาจเกิดจากระบบอื่นของร่างกายได้
ตามัวถาวร
จักษุแพทย์พบตามัวถาวรจำนวนมาก แบ่งตามชนิดได้ 4 กลุ่มใหญ่ คือ สายตาผิดปกติ ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม กล้ามเนื้อตาผิดปกติ
1. สายตาผิดปกติ พบได้บ่อยที่สุดไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง หรือลักษณะของตามัวมักจะเกิดจากการมองแล้วเหมือนภาพไม่โฟกัส หรือภาพเบลอ
2. ต้อกระจก เห็นภาพเป็นหมอกขาว ๆ บังตา เริ่มจากหมอกน้อย ๆ ไปจนถึงหมอกหนาขึ้นเรื่อย ๆ บางคนอาจจะมองเห็นหน้าคนนั่งตรงข้ามไม่ได้ คือเป็นภาวะตามัวที่เกิดจากโรคต้อกระจก ปัจจุบันสามารถรักษาได้
3. จอประสาทตาเสื่อม เกิดจากโรคหรือความผิดปกติ บางคนอาจเกิดจากจอประสาทตาเสื่อม หรือจอประสาทตาบวม มองเห็นภาพเบี้ยวหรือภาพแหว่งหายไป มีม่านดำบังตรงกลางหรือบริเวณด้านข้าง จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันภาวะตาบอดถาวรตามมาได้
4. กล้ามเนื้อตาผิดปกติ หรือเส้นประสาทควบคุมกล้ามเนื้อตาผิดปกติ ทำให้การมองเห็นภาพซ้อนหรือภาพเหลื่อมกันของตา 2 ข้าง จะทำให้การมองเห็นภาพแย่ลง จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัย เพราะอาจเป็นโรคของดวงตาหรือโรคของระบบประสาทที่มีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของลูกตา 2 ข้างให้ทำงานไปด้วยกันได้
โดยทั่วไป ภาวะตามัวเกิดขึ้นได้ทั้งตาข้างเดียวหรือตา 2 ข้าง ทั้ง 4 สาเหตุ หรือ 4 กลุ่มโรคอาจจะเกิดที่ตาทีละข้าง หรือเกิดพร้อมกันทั้ง 2 ข้างก็ได้
คนที่ตามัว 2 ข้าง มักจะรู้สึกตัวเร็ว เพราะว่าทำให้การมองเห็นไม่ถนัดและรีบไปพบแพทย์
ปัญหาที่จักษุแพทย์พบบ่อย ๆ คือคนที่มีปัญหาตามัวข้างเดียวไม่เคยสังเกตมาก่อน เพราะเวลาลืมตา 2 ข้างก็จะใช้ตาข้างที่ดีในการดูสิ่งต่าง ๆ
มีข้อแนะนำว่าในทุก ๆ 1 เดือน หรือทุก ๆ 2 สัปดาห์ ควรจะมีการทดสอบด้วยการปิดตาทีละข้าง แล้วมองภาพว่า 2 ตามองเห็นเท่ากันหรือไม่ จะได้รีบไปพบจักษุแพทย์ และได้รับการวินิจฉัยรักษาได้ทันท่วงที
ดูเพิ่มเติมจาก ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : เข้าใจสาเหตุภาวะตามัว, การป้องกันและรักษาภาวะตามัว
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter