ป.ป.ช. 27 ก.ค.-ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ ร้อง ป.ป.ช. ตรวจสอบ รมว.ศธ.กรณีเปลี่ยนหลักสูตรอบรมวิทยฐานะโครงการพัฒนาครูของ สพฐ. อาจขัด พ.ร.บ.ฮั้วประมูล เอื้อประโยชน์ ภาคเอกชน-มหาวิทยาลัยรัฐบางแห่งหรือไม่
นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.) ยื่นหนังสือถึงประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมีนายศักดิ์ชัย เมธีนิพิศาลกุล รองเลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นผู้รับหนังสือ เพื่อขอให้ตรวจสอบ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้วประมูล) กรณีให้ภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยของรัฐ จัดทำหลักสูตร และอบรมโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ใช้งบประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท โดยไม่มีการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงมีการตั้งราคาค่าอบรมที่แพงกว่าความเป็นจริง หรือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งหรือไม่ เนื่องจากมีการแก้ไขระเบียบการเลื่อนวิทยฐานะของครูและผู้บริหารการศึกษาว่าจะต้องผ่านคอร์สอบรมพัฒนาที่ได้รับรองมาตรฐานตามวิทยฐานะในสาขานั้น ๆ และชั่วโมงการเรียนการสอน PLC ไม่น้อยกว่า 50 ชั่วโมง ซึ่งหากใช้ตามหลักสูตรเดิม โดยการโอนเงินให้เขตการศึกษาเป็นผู้จัดอบรม มีการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละเขตพื้นที่การศึกษา จะใช้งบประมาณไม่เกิน 783 ล้านบาทต่อปี เพราะครูจะไม่ต้องเสียเงิน ค่าเดินทาง ค่าที่พัก และใช้สถานที่อบรมของโรงเรียนได้ แต่การอบรมแบบหลักสูตรใหม่ต้องเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยหรือผู้เชี่ยวชาญจากเอกชน หรือสถานที่นอกโรงเรียน
นอกจากนี้ยังเห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กระทำการเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่มีการแก้ไขระเบียบการเลื่อนวิทยฐานะของครู โดยไม่มีการทำประชาพิจารณ์สอบถามความเห็นของครู ซึ่งเหมือนเป็นการบังคับว่าครูทุกคนต้องอบรมหรือไม่ อีกทั้งยังเร่งรีบอนุมัติหลักสูตรที่ใช้ในโครงการพัฒนาครูแบบครบวงจรของ สพฐ. กว่า 1,400 หลักสูตร โดยไม่มีการประเมินว่าหลักสูตรดังกล่าวตรงกับหลักวิชาการหรือไม่
ทั้งนี้ยังขอให้ตรวจสอบเว็บไซต์ลงทะเบียนเข้าอบรมครู ซึ่งพบมีการร้องเรียนจากครูว่าลงทะเบียนได้เฉพาะบางหลักสูตรเท่านั้น เหมือนเป็นการบังคับให้เข้าอบรมกับบางบริษัท หรือบางมหาวิทยาลัยหรือไม่ และขอให้ตรวจสอบกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 -2561 ซึ่งใช้เป็นค่าซ่อมแซมโรงเรียนและค่าสาธารณูปโภคของสำนักเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อใช้เป็นงบประมาณในการอบรมครู โดยเฉพาะค่าวิทยากร.-สำนักข่าวไทย