ภูมิภาค 26 ก.ค. – พายุเซินกาส่งผลกระทบในหลายจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสาน เกิดน้ำป่าหลากเข้าท่วมหลายจุด จากปริมาณน้ำฝนที่ตกสะสม ขณะที่กรมชลประทานกำชับทุกจังหวัดบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด
อ.ศรีเมืองใหม่ อ.โขงเจียม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแสงใหญ่ นำเรือท้องแบนออกช่วยเหลือชาวบ้าน เนื่องจากทางเข้าหมู่บ้านถูกน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าหลาก ระดับน้ำสูงกว่า 2 เมตร พืชผลการเกษตร มันสำปะหลัง นาข้าว ยางพารา จมอยู่ใต้น้ำ
จ.มุกดาหาร ไฟฟ้าดับนานหลายชั่วโมง ต้นไม้และป้ายโฆษณาหักล้มขวางถนน โดยเฉพาะเขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร มีน้ำท่วมขัง รถไม่สามารถสัญจรได้ เจ้าหน้าที่กู้ภัยและเทศบาลฯ เร่งตัดกิ่งไม้ เปิดเส้นทางจราจร
ส่วนถนน 4 เลน สายมหาสารคาม-บรบือ-บ้านไผ่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 23 เส้นทางหลักมุ่งหน้าเข้า ถ.มิตรภาพ มีน้ำท่วมขังเป็นระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร เนื่องจากเมื่อคืนที่ผ่านมา ฝนตกหนักยาวนานหลายชั่วโมง จนเกิดน้ำท่วมขังถนนหลายจุด โดยเฉพาะถนนหลักกิโลเมตรที่ 57, 56 และ 55 เจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงและกรมทางหลวงต้องอำนวยความสะดวกผู้ใช้เส้นทาง
ระดับน้ำในแม่น้ำโขง จ.หนองคาย สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทศบาลเมืองหนองคาย เร่งตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ไว้ที่ประตูระบายน้ำ ซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง เร่งระบายน้ำออกจากเขตเมือง ส่วนประตูระบายน้ำชุมชนวัดธาตุ ซึ่งเชื่อมลำรางระบายน้ำที่ใหญ่ที่สุด ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มอีก 3 เครื่อง พร่องน้ำจากลำรางให้เหลือน้อย
ส่วนพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.เชียงราย ระดับน้ำในแม่น้ำหลายสายมีปริมาณสูงขึ้น แม่น้ำลาวที่ไหลจาก อ.เวียงป่าเป้า ลงสู่แม่น้ำกก บางจุดล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน พื้นที่การเกษตร ต.ป่าอ้อดอนชัย ต.ท่าสาย ต.บัวสลี ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ขณะนี้โรงเรียนบัวสลีวิทยา ประกาศปิดเรียนถึงวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ส่วนเด็กที่อยู่ในหอพัก ขอให้ผู้ปกครองมารับกลับบ้านทันที
ขณะที่กรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หลังรับนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกำชับให้ทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำ โดยใช้ระบบชลประทานป้องกันน้ำท่วมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตาม ระบบชลประทานให้รองรับน้ำอย่างเต็มศักยภาพ ส่วนพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมซ้ำซาก สั่งเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำไว้ทุกจุด อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่-ขนาดกลาง ทุกโครงการชลประทานที่รับผิดชอบ ให้บริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ของ Rule Curves อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมากกว่าความจุอ่าง รวมถึงอ่างเก็บน้ำที่มีพื้นที่รับน้ำฝนขนาดใหญ่ ส่วนกรณีอ่างเก็บน้ำที่ต้องพร่องน้ำล่วงหน้า ให้ชลประทานที่รับผิดชอบเตือนประชาชนและรายงานต่อผู้ว่าฯ
สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยาพร่องน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาไว้แล้ว และทยอยระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลงสู่ทะเลอย่างต่อเนื่อง เชื่อรับมือพายุเซินกาได้ ซึ่งปริมาณน้ำที่จะส่งผลให้เอ่อล้นตลิ่ง เขื่อนเจ้าพระยาต้องมีปริมาณน้ำไหลผ่านถึง 2,800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แต่ขณะนี้น้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 1,197 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เชื่อว่ารับน้ำได้ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก ส่วนลุ่มน้ำยมจะควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำยมที่ไหลผ่านเขตเทศบาลเมืองสุโขทัย ให้อยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัย. – สำนักข่าวไทย