1 มกราคม 2567
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับ “โควิด-19” รับปีใหม่ 2567
ธรรมชาติของโคโรน่าไวรัส (โควิด-19) จะอยู่กับโลกนี้ไปอีกนาน เพราะไวรัสตัวนี้กลายพันธุ์ตลอดเวลา และจะพบสายพันธุ์ใหม่ ๆ
เมื่อไหร่ก็ตามที่พบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ (อย่างโอไมครอน) โดยหลักการของไวรัสที่แพร่ระบาดรวดเร็ว จะไปทดแทนสายพันธุ์เดิม และถือเป็นความโชคดีของโลกใบนี้ ที่มีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นแต่ไม่รุนแรง
คงจำกันได้ ตอนที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์เดลตาเกิดขึ้น อัตราการเสียชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากมาย และตอนนี้เป็นโอไมครอนก็ยังเกิดการกลายพันธุ์อยู่เรื่อย ๆ
ถ้าไปดูย้อนหลัง ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ประเทศไทยมีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นคู่ขนานไปกับการติดเชื้อ โชคดีว่าสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นกระจายเร็วแต่ไม่ได้รุนแรง
โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “JN.1”
องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ 1 สายพันธุ์ เรียกว่า JN.1 (เจเอ็น.1)
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว องค์การอนามัยโลกบรรจุสายพันธุ์ JN.1 เข้าไปในกลุ่ม Variants of Interest : VOI หรือสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าติดตาม ซึ่งมีอยู่ 2-3 คำที่ต้องทำความเข้าใจ
“Variants of Interest” คือสายพันธุ์ที่มีการแพร่กระจายรวดเร็ว แล้วเฝ้าติดตามดูว่าก่อความรุนแรงมั้ย ดื้อกับวัคซีนมั้ย ถ้ายังไม่มีก็สามารถเรียกเป็น Variants of Interest
โควิด-19 สายพันธุ์ที่กระจายอยู่ในสหรัฐอเมริกา เข้าไปที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และอินเดีย ซึ่ง ณ วันนี้ JN.1 ยังอยู่แบบนี้
ถ้าเมื่อไหร่มีหลักฐานว่านอกจากกระจายรวดเร็วแล้ว อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หรือมีหลักฐานชัดเจนว่าดื้อกับวัคซีนโควิด-19 สายพันธุ์เหล่านี้องค์การอนามัยโลกมีแนวโน้มจะเปลี่ยนจาก Variants of Interest ไปเป็น Variants of Concern : VOC คือมีผลกระทบกับสุขภาพ ทำให้เจ็บป่วยและเสียชีวิต ถ้าเป็นอย่างนั้นเรื่องใหญ่แล้ว
การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ JN.1 ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน ถึง 17 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ระยะเวลารวม 28 วัน เมื่อเทียบกับ 28 วันก่อนหน้านั้น สายพันธุ์ JN.1 เป็นสาเหตุของการติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 52 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่ามีการกระจายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เริ่มไปทดแทนสายพันธุ์เดิมในสหรัฐอเมริกา
ปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานว่าโควิด-19 สายพันธุ์ JN.1 สร้างความรุนแรงเกิดขึ้น และวัคซีนที่ฉีดกันจนถึงวันนี้แม้จะมีคนพูดว่า JN.1 อาจจะดื้อกับวัคซีน แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้เพราะร่างกายคนเราเมื่อฉีดวัคซีนไปถึงจุดหนึ่งภูมิต้านทานก็ค่อย ๆ ลดลงอยู่ดี
ดังนั้น ตอนนี้ติดตามดูไปเฉย ๆ โดยกระทรวงสาธารณสุข และนักวิชาการที่อยู่ในมหาวิทยาลัยก็เฝ้าติดตามเรื่องเหล่านี้ ถ้ามีสัญญาณบอกเหตุอะไรก็จะรีบแจ้งให้สาธารณชนได้รับรู้
“หน้ากากอนามัย” ป้องกันภัยจาก JN.1 และ PM2.5
ขอฝากหลักการเบื้องต้น ไม่ว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 จะกลายพันธุ์อย่างไร ทุกคนมีวัคซีนติดตัวอยู่แล้ว ได้แก่ การใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ และรักษาระยะห่าง
เข้าใจว่าช่วงการระบาดหนักของโควิด-19 ทุกคนก็เครียด ทุกคนก็ลำบาก ทุกคนก็อยากพัก ซึ่ง ณ วันนี้ก็ไม่ได้ย้ำว่าทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัย ต้องล้างมือตลอด แต่เมื่อไหร่เข้าไปในพื้นที่เสี่ยง เช่น พื้นที่มีคนจำนวนมาก มีการพูดคุยและตะโกน ซึ่งบอกไม่ได้หรอกว่ามีใครในนั้นติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ เพราะเดี๋ยวนี้อาการมีเพียงแค่เจ็บคอ มีน้ำมูก และมาปะปนอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อความปลอดภัยการใส่หน้ากากอนามัยช่วยได้ระดับหนึ่ง
ถ้าภูมิต้านทานดี ฉีดวัคซีนมากพอ เป็นการกระตุ้นภูมิร่างกายเหมือนกัน ถ้ายังเป็นสายพันธุ์แบบนี้ (JN.1) ความรุนแรงก็ไม่น่าจะมาก
ช่วงนี้ ที่ชักชวนใส่หน้ากากอนามัย เพราะว่าอยู่ในช่วง PM2.5 ขึ้นด้วย เท่ากับว่าใส่หน้ากากอนามัย 1 อย่าง มีโอกาสเกิดประโยชน์ได้ 2 ด้าน แต่ต้องเป็นหน้ากากอนามัยที่ครอบคลุมการติดเชื้อโควิด-19 และ PM2.5
ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา สถาบันแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ คือสถาบันฟรานซิส คริก (Francis Crick Institute) ลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเกี่ยวกับอุบัติการณ์มะเร็งปอดในคนที่ไม่สูบบุหรี่ มีหลักฐานเพิ่มขึ้นชัดเจนในพื้นที่ที่มี PM2.5 สูง
คำว่า “มะเร็งปอด ไม่สูบบุหรี่” ไม่ได้หมายความว่า มะเร็งปอดที่คนสูบบุหรี่ไม่เพิ่มขึ้น คือมะเร็งปอดที่คนสูบบุหรี่ก็เป็นมะเร็งปอดอยู่แล้ว แต่คนที่ไม่สูบบุหรี่โอกาสเป็นมะเร็งปอดน้อย ขณะนี้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
ตอนนี้ PM2.5 ก่อเรื่องแน่นอน กลายเป็นปัญหาทั่วโลก การใส่หน้ากากอนามัยครั้งเดียว แต่ป้องกันได้ 2 เรื่อง ทั้งระยะสั้นและระยะยาวเป็นสิ่งที่พึงกระทำ
ใส่หน้ากากอนามัยแล้วก็ไม่ต้องเคอะเขิน สังคมไม่มองว่าผิดหรอกที่ใส่ เพราะคนทั่วไปใส่กันมาจนคุ้นชินอยู่แล้ว
ปีใหม่นี้ ไม่มีใครมาคัดค้าน หรือห้ามไม่ให้สนุกสนานหรอก ถ้าจะไปสนุกสนานในพื้นที่มีคนจำนวนมากก็ใส่หน้ากากอนามัยสนุกสนานกันได้ ยกเว้นตอนกินอาหาร
วัคซีนป้องกันโควิด-19 กับความจำเป็น ?
ในคนที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็อยากแนะนำให้ฉีดด้วยเพื่อป้องกันความเสี่ยง
คนที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 มาแล้วหลายเข็ม ถ้าไม่ได้เป็นคนกลุ่ม “608” คือกลุ่มผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และ+1 คือกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากกลุ่มนี้เป็นผู้ที่มีอาการรุนแรงของโรคมากหากติดเชื้อโควิด-19 ความเห็น ณ ตอนนี้คือใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตนเองและล้างมือบ่อย ๆ ดีกว่า
เรื่องของวัคซีน ตั้งแต่ช่วงแรกก็มีข้อถกเถียงจำนวนมากแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าวัคซีนช่วยให้ไม่ตายในระยะเฉียบพลันของการแพร่ระบาด แต่ระยะยาวมีผลหรือไม่นั้น ถ้าดูจากหลักฐานทางวิชาการ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าก่อให้เกิดโรค ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนรวมแล้วมากกว่าพัน ล้านโดส
อาจจะมีบางคนที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วเกิดอะไรขึ้น แต่เมื่อเทียบกับจำนวนคนฉีดวัคซีนก็ถือว่าน้อย กรณีอย่างนี้อยู่ในดุลพินิจของแต่ละคนดีกว่า
ในฐานะนักวิชาการ “การฉีดวัคซีนโควิด-19 ลดอัตราการเสียชีวิตได้จริง”
กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนอย่างไร ?
ขณะนี้ หลายประเทศประกาศโควิด-19 เป็น “โรคประจำท้องถิ่น โรคประจำฤดูกาล” เหมือนไข้หวัดใหญ่ ทำให้บริษัทผลิตวัคซีนพยายามผสมผสานให้อยู่ในวัคซีนชุดเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีก็ไปไกลแล้ว เช่น ไข้หวัดใหญ่ฉีด 1 เข็ม ป้องกันได้ 4 สายพันธุ์ แต่ยังมีความแตกต่างนิดเดียวเกี่ยวกับกลไกของร่างกายเรื่องภูมิคุ้มกันโควิด-19 กับไข้หวัดใหญ่ที่ไม่เหมือนกัน
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 1 เข็มอยู่ได้นาน แตกต่างจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่รู้กันมานานแล้วว่าอยู่ได้เพียง 3-4 เดือน จากนั้นภูมิคุ้มกันจะค่อย ๆ ลดลง
ดังนั้น ใครที่เจ็บคอ มีน้ำมูกมาก ไอ ถ้าสงสัยก็ตรวจโควิด-19
ถ้าไม่ได้มีอาการอะไรมากมาย บางคนก็ไม่ตรวจ แต่ที่บางคนตรวจไม่ใช่เพราะตัวเอง แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อกระจายไปถึงคนรอบข้างเท่านั้นแหละ
ถ้าคนที่มีอาการเจ็บคอ มีน้ำมูกมาก ไอ และมีไข้ หรือมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก แนะนำให้ต้องตรวจ และถ้าตรวจแล้วพบว่าติดโควิด-19 จริงก็ต้องรีบรักษา
บางคนเริ่มมีไข้คิดว่าไม่มีอะไร บางครั้งภายใน 24 ชั่วโมงอาการรุนแรงลุกลามไปที่ปอดก็ยุ่งแล้ว บางคนจำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลก็ต้องอยู่ ถ้ามีอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องรับไว้ในโรงพยาบาล
ถ้าบางคนเป็นโควิด-19 แต่ไม่มีอาการอะไรมาก ส่วนใหญ่อยู่บ้านครบ 5 วันก็ทำงานได้ และก็ไม่ได้แนะนำว่าครบ 5 วันแล้วต้องตรวจ
ยืนยันว่าขณะนี้มียาที่ยังครอบคลุมทุกสายพันธุ์ (สายพันธุ์ใหม่ด้วย) และประเทศไทยมียาเหล่านี้จำนวนมากอยู่ในคลังที่กระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นยาเรมเดซิเวียร์ (remdesivir) และ แพ็กซ์โลวิด (Paxlovid)
ทุกวันนี้ “โควิด -19” น่ากลัวหรือไม่
ไม่อยากให้ใช้คำว่า “กลัว” โควิด-19 แต่ใช้ว่า “ระวัง” คือเรายังต้องเฝ้าติดตามด้วยความระมัดระวัง อย่าถึงขนาดละเลยการป้องกันโควิด-19 ทุกกรณี
การใส่หน้ากากอนามัยไปสถานที่มีคนจำนวนมาก ไม่เกี่ยวกับกลัวหรือไม่กลัว แต่เป็นการระวังที่ปลอดภัยและทุกคนทำได้ด้วยตนเอง
ดูเพิ่มเติม “รายการชัวร์ก่อนแชร์”
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter