กรุงเทพฯ 21 ธ.ค.- EXIM BANK หนุนเอกชนมุ่งสู่ “Green Development” ทำดีช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้รับสินเชื่อผ่อนปรน
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวในงาน “EXIM Green Wishes Market” ว่า ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกยังทวีความรุนแรงขึ้น กรุงเทพฯ ติดอันดับ 12 เมืองที่มีค่ามลพิษทางอากาศสูงสุดในโลก เพราะคนกรุงเทพฯ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกมาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 4.16 ตันต่อคนต่อปีในปี 2545 เป็น 4.66 ตันต่อคนต่อปีในปี 2565
ขณะนี้ธนาคารแหล่งพยามผลักดันให้ผู้ประกอบการ ร่วมขับเคลื่อน เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) เพื่อลดการปล่อยก๊าซ CO2
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2023/12/21/1291328/1703139074_830008-tnamcot-1024x683.jpg)
EXIM BANK มีพอร์ตสินเชื่อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของ สิ้นปี 2566 ประมาณ 61,500 ล้านบาท หรือ 35% ของสินเชื่อคงค้างรวมของธนาคาร ในปี 67 ต้องการเพิ่มสัดส่วนให้เป็นร้อยละ 40 ดังนั้น หากผู้ประกอบการส่งออก ต้องการได้รับสินเชื่อ ต้องร่วมทำดี ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม จะได้รับสินเชื่อด้วยเงื่อนไขผ่อนปรน เป็นเงื่อนไขพิจารณาสินเชื่อจากมาตรฐานทั่วไป หวังผลักดันให้ผู้ประกอบการ ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม อยากให้ทุกคนเลิกอวดความร่ำรวย หันมาอวดความดี ทำดีต่อสิ่งแลดล้อม ตามกระแสโลกยุคใหม่
EXIM BANK ตั้งเป้าหมายสู่ Carbon Neutrality ในปี 2573 และ Net Zero Emissions ในปี 2593 เร็วกว่าเป้าหมายประเทศไทย 20 ปีและ 15 ปีตามลำดับ โดยปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร ควบคู่กับการเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนให้เป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดภายในปี 2571 ท่ามกลางความท้าทายของทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน การกลับทิศของนโยบายการเงิน แนวโน้มเศรษฐกิจในตลาดการค้าหลัก รวมถึงความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการค้าเป็นระลอก อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกจะกลับมาหนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไปได้ โดยมุ่งเน้นสินค้าไทยที่เกาะกระแสเทรนด์โลก เช่น สินค้าเกษตรและอาหารเพื่อสุขภาพ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว สินค้าเทคโนโลยีและดิจิทัล สินค้ารักษ์โลก
ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ กล่าวว่า ไทยยังเป็นประเทศผู้สร้างขยะ และมลพิษสู่บรรยากาศของโลกสูงมาก จึงอย่างเสนอแนะให้คนไทยปลูกป่าไม้มีค่า ทั้งในพื้นที่ป่าชุมชน ที่ดินของตนเอง และนำไม้มีค่ามาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แทนการตัดไม้ในป่าอุทยานฯ หันมาใช้ไม้ทดแทนพลาสติก หรือวัสดุอื่นที่เป็นมลภาวะ
นพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า ขยะพลาสติกในทะเลจะสูงมาก แม้จะช่วยกันรีไซเคิ้ลอย่างไร ยังช่วยแก้ไขได้ยาก จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันต้นทาง ใช้วัสดุสิ่งของจากด้านเกษตร มาใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ หรือของใช้ต่างๆ เพื่อเกิดการย่อยสลาย ทั้งชานอ้อย ฟางข้าว ผักตบชวา ใยสับปะรด เปลือกทุเรียน แทนการใช้พลาสติก มองว่าเป็นเรื่องยากในปัจจุบัน แต่เป็นสิ่งสำคัญ ลดความเสี่ยงโรคมะเร็งหลายชนิดในอนาคต
นายพงษ์ศักดิ์ จึงรุ่งเรืองวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน สินค้า ของใช้ เสื้อผ้า และสิ่งต่างๆ เมื่อผลิตจากวัสดุรีไซเคิ้ล ผู้บริโภคจะให้การตอบรับเป็นอย่างไร จึงเริ่มมีกระแสดูแลสิ่งแวดล้อม เมื่อผู้บริโภคร่วมซื้อ จะผลักดันให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น.-515 สำนักข่าวไทย