กรุงเทพฯ 20 ธ.ค. – กลุ่มยานยนต์คาด EV 3.5 หนุนเชื่อมั่นไทยเป็นฐานผลิตต่อเนื่อง ด้านยอดขายรถยนต์ พ.ย.66 ลดต่อเนื่องเหตุแบงก์คุมสินเชื่อ
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากล่าสุดที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV 3.5) ในช่วง 4 ปีจากนี้ (67-70) เป็นการช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน เป็นการทำให้ประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV ในอาเซียน ขณะเดียวกันก็ยังเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปที่สำคัญของโลกด้วย
ขณะนี้รถ EV บางรุ่น ราคาถูกกว่ารถสันดาปบางรุ่น และจากที่นายกรัฐมนตรีไปพูดคุยเชิญชวนหลายค่ายรถยนต์รายใหญ่ ก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจ ที่จะได้เห็นการเข้ามาลงทุนใหญ่ในไทย ซึ่งเมื่อมีการลงทุนเกิดขึ้นแล้ว จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และทำให้ประเทศหลุดพ้นเส้นความยากจนได้ในปี 2029
สำหรับยอดการผลิตรถยนต์ในเดือน พ.ย.66 อยู่ที่ 163,337 คัน ลดลง 14.10% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน เพราะฐานการผลิตเพิ่มจากการได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น หลังได้รับผลกระทบจากโรงงานหยุดผลิตช่าวการระบาดของโรคโควิด-19 ด้านยอดจำหน่าย อยู่ที่ 61,621 คัน ลดลง 9.76% ยอดขายรถกระบะลดลง 38.8% เป็นผลจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของธนาคาร เพราะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
สำหรับ 11 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.66 ) มียอดจำหน่ายรถยนต์รวมทั้งสิ้น 707,454 คัน ลดลง 7.71% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เดือน พ.ย.66 อยู่ที่ 99,609 คัน เพิ่มขึ้น 13.22% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 89,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.87% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,708,042 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.98% ยอดส่งออก อยู่ที่ 1,027,234 คัน เพิ่มขึ้น 15.59% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 888,455 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายสุรพงษ์ คาดว่า ยอดส่งออกปีนี้น่าจะทะลุเป้าที่ 1.05 ล้านคัน มาแตะ 1.1 ล้านคัน ส่วนปี 2567 มีโอกาสที่จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีนี้. -411-สำนักข่าวไทย