ทำไมเราต้องตื่นกลางดึก ?
ตื่นกลางดึกบ่อย ๆ เป็นอันตรายหรือไม่
ตื่นแล้วนอนต่อไม่ได้ควรทำอย่างไร ?
🎯 ตรวจสอบกับ นพ.ณภัทร์ ศิรินิ่มนวลกุล อาจารย์แพทย์ฝ่ายจิตเวชศาสตร์ และ ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
“ตื่นกลางดึก” เป็นเรื่องปกติ
มีการนำคนปกติที่ไม่เคยมีปัญหาเรื่องของการนอนมาตรวจคลื่นสมองระหว่างการหลับ พบว่าค่าเฉลี่ยของการตื่นปกติอยู่ที่ประมาณ 10-15 ครั้งต่อคืน นี่คือตัวเลขปกติ
บางคนรู้สึกว่าไม่น่าจะมากขนาดนั้น เพราะคนเรามีการตื่นกลางดึกตามคลื่นสมอง คือสมองตื่นแต่เราอาจจะจำไม่ได้ว่าเราตื่น
ถ้าเราตื่นประมาณ 2-3 นาที สมองไม่ได้จำว่าเราตื่น
ถ้าเราเริ่มตื่นนานกว่านั้น 5-10 นาที หรือตื่นแล้วลุกไปเข้าห้องน้ำ ลุกไปทำนู่นทำนี่ แล้วกลับมานอนต่อ อย่างนี้จะเป็นการตื่นที่สมองของเราจำได้
สมมุติตื่นกลางดึกแล้วกลับมานอนต่อ แต่ต้องใช้เวลาเกินครึ่งชั่วโมงขึ้นไป ระยะเวลา 3 วันต่อสัปดาห์ นานเป็นเดือนหรือหลายเดือนขึ้นไป อย่างนี้น่าจะมีปัญหาแล้ว
มีสาเหตุอะไรบ้าง ที่ทำให้ตื่นกลางดึกและไม่สามารถนอนต่อได้
ตื่นกลางดึกแล้วกลับไปนอนต่อไม่ได้ มีสาเหตุหลายอย่าง เช่น
1. เกิดจากปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ บางคนมีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ก็จะเกิดปัญหาการนอนที่ไม่ต่อเนื่อง
2. โรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอน เช่น ภาวะนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ หรือว่ามีการขยับเคลื่อนไหวผิดปกติระหว่างคืน
3. อื่น ๆ ความไม่สบายในร่างกายบางอย่างก็จะทำให้ตื่นกลางดึกได้ เช่น อาการปวด ไม่ว่าจะเป็นปวดตรงจุดไหนของร่างกายถ้ารบกวนขึ้นมาก็จะทำให้กลับไปนอนต่อยากเช่นกัน
อาการเฉพาะที่พบในเพศชาย มีปัญหาเกี่ยวกับโรคทางเดินปัสสาวะ เช่น ต่อมลูกหมากโต
สำหรับเพศหญิงก็อาจจะมีกระเพาะปัสสาวะไวกว่าปกติ หรือวัยใกล้หมดประจำเดือนก็จะมีอาการร้อนวูบวาบหรือคันตามร่างกาย บางคนก็จะรบกวนเรื่องการนอน เรื่องเหล่านี้สามารถตรวจประเมินและรักษาได้
มีพฤติกรรมบางอย่าง ทำให้นอนไม่หลับ
การที่คนเรายิ่งวิตกกังวลเรื่องนอนไหลับ ไม่ว่าจะเป็นตรงจุดไหนก็ตาม เช่น
บางคนนอนไม่หลับ ดูนาฬิกาตลอดเลย ว่าผ่านไปกี่นาทีแล้ว ผ่านไปนานแค่ไหนแล้ว
บางคนตื่นกลางดึก ดูนาฬิกา พยายามเพ่งสมาธิไปที่การตื่นกลางดึกของตัวเอง หรือเพ่งสมาธิไปที่การนอนไม่หลับ ยิ่งเป็นการเพิ่มความกังวล สิ่งเหล่านี้ยิ่งเป็นปัญหาสำหรับการนอน เพราะความกังวลจะเป็นอารมณ์ที่ทำให้รู้สึกนอนยากหรือนอนไม่หลับอยู่ดี
มีนาฬิกาอยู่ในห้องนอน
ห้องนอนที่ดีไม่ควรมีนาฬิกา
การมีนาฬิกาอยู่ในห้องนอน ทางเดินไปห้องน้ำ หรือในห้องน้ำ แนะนำว่าให้นำนาฬิกาออก แล้วตั้งนาฬิกาปลุก เพราะจะรู้ว่าเวลาที่ต้องตื่นก็คือช่วงนาฬิกาปลุก ซึ่งเป็นเวลาตื่นจริง ๆ แล้ว
“กลางดึก” หรือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น กลางคืนตื่นมาไม่ได้ยินเสียงนาฬิกาปลุก ไม่ใช่เวลาที่จะตื่น นอนต่อได้เลยไม่ต้องรู้ว่ากี่โมง
มีบางคนตื่นกลางดึกแล้วนอนไม่หลับ ทำอย่างไรให้ผ่อนคลาย แนะนำให้ลุกขึ้นหากิจกรรมที่เบาและผ่อนคลายทำสักนิด เช่น การอ่านหนังสือสบาย ๆ ที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก ฟังดนตรีบรรเลง ฟังเสียงธรรมชาติ สวดมนต์ นั่งสมาธิ กิจกรรมเหล่านี้ทำให้ใจที่เคยกังวลสงบลงได้ ใจที่ผ่อนคลายก็จะกลับมานอนหลับได้ง่ายขึ้น
“ตื่นกลางดึก” ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ?
การตื่นกลางดึกเป็นเรื่องปกติ
สิ่งที่อาจจะต้องกังวลกับการตื่นกลางดึกก็คือกลับมานอนต่อใช้เวลามากกว่า 30 นาที
การกลับมานอนต่อแต่ต้องใช้เวลามากกว่า 30 นาที เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่ามีอะไรรบกวนคุณภาพการนอนอยู่
แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ไขสาเหตุ รักษาสาเหตุ เพราะตื่นกลางดึกแล้วนอนไม่พอ อาจมีผลต่อหัวใจกับหลอดเลือด เพิ่มความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ได้
บางครั้งเรื่องธรรมดาอย่างการตื่นกลางดึกที่ผิดปกติ อาจมีสาเหตุมาจากโรคและเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคได้ ดังนั้น ควรสังเกตและแก้ไขก่อนจะสายเกินไป
ดูเพิ่มเติม “รายการชัวร์ก่อนแชร์”
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์ เรียบเรียงโดย : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter