กรุงเทพฯ 19 ก.ค.-ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน
ครั้งที่ 35 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ตกลงซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนระหว่างกันเป็นครั้งแรก
100 เมกะวัตต์ ผลิต จาก สปป.ลาว
ส่งผ่านจากไทยไปมาเลเซีย
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน และคณะผู้แทนจากประเทศไทย
เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 35
และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (35th ASEAN Senior Officials Meeting on
Energy: 35th SOME) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-21 กรกฎาคม
2560 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ภายใต้หัวข้อ “One
ASEAN Community Through Resilient and Sustainable Energy”
นายอารีพงศ์
กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน
(ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation: APAEC) ปี 2016-2025
ระยะที่ 1 ระหว่างปี 2016-2020
ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงและการบูรณาการด้านพลังงาน ผ่านการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคี
รวมถึงการเชื่อมโยงก๊าซธรรมชาติอาเซียน เพื่อความยั่งยืนด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียน
ได้แก่
1.โครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน ซึ่งไทย มาเลเซีย
และสปป. ลาว ได้ดำเนินโครงการบูรณาการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดน
ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของอาเซียน ที่จะมีการซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 100
เมกะวัตต์ โดยผลิตจาก สปป. ลาว ไปยังมาเลเซีย โดยผ่านประเทศไทย
และจะมีการลงนามลงนามในสัญญา Energy Purchase and Wheeling Agreement
(EPWA) ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน
ครั้งที่ 35 (35th ASEAN Ministers on Energy Meeting: 35th AMEM) ในเดือนกันยายน
2560 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการเชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน
(ASEAN Power Grid Consultative Committee: APGCC) ทำหน้าที่ในการดำเนินงานและอำนวยความสะดวกด้านความเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าอาเซียน
การจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับการพัฒนาโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN
Power Grid: APG) เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างภูมิภาคในรูปแบบพหุภาคีให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
2.โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติอาเซียน อาเซียนได้ดำเนินการแล้วเสร็จเร็วกว่าแผน APAEC
ที่กำหนดเป้าหมายไว้ว่าในปี 2020
จะสามารถผลักดันให้มีกฎหมายเปิดให้บุคคลสามารถเข้ามาใช้หรือเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว
(Third Party Access Code) ให้ได้อย่างน้อย 1
ประเทศ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ไทย สิงคโปร์
และมาเลเซีย ได้มีกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว
และ 3.ด้านพลังงานทดแทนและด้านประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน
ซึ่งอาเซียนมีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ร้อยละ 23
ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายภายในปี 2025 ซึ่งในปัจจุบัน
อาเซียนมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ร้อยละ 12-13
สำหรับการลดความเข้มข้นในการใช้พลังงานลงร้อยละ 30
ภายในปี 2025 อาเซียนสามารถลดความเข้มข้นในการใช้พลังงานลงได้ร้อยละ
15.92
ในส่วนของการส่งโครงการเข้าประกวดเพื่อรับรางวัล
ASEAN Energy Awards 2107 ไทยส่งโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงานและประสิทธิภาพพลังงาน
จำนวน 13 รางวัล ด้านพลังงานทดแทน จำนวน 11
รางวัล เข้าร่วมประกวด ASEAN
Energy Awards รวมถึง
ส่งโครงการที่ได้รับรางวัลจาก Thailand Coal Awards 2017
เข้าร่วมประกวดรางวัล ASEAN Coal Awards 2017
จำนวน 7 รางวัล ทั้งนี้
จะมีการประกาศผลโครงการที่ได้รับรางวัลในช่วงการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ต่อไป-สำนักข่าวไทย