กรุงเทพฯ 19 ก.ค. – ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย.ลดลงต่ำสุดในรอบ 10 เดือน กังวลต่อกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอลงและเกรงขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยเดือนมิถุนายน 2560 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 84.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 85.5 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับดัชนีต่ำสุดในรอบ 10 เดือน นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 โดยค่าดัชนีทั้งยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ปรับตัวลดลงทั้งหมด
สาเหตุเพราะผู้ประกอบการมีความกังวลต่อกำลังซื้อในประเทศ จากการระมัดระวังการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ประกอบกับอยู่ในช่วงฤดูฝน ทำให้การดำเนินกิจกรรมของภาคธุรกิจชะลอตัวลง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ทำให้กังวลว่าจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีในภาคบริการที่ได้รับผลกระทบมาก ซึ่งยอมรับว่ามีบางส่วนที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศ อย่างไรก็ตาม ได้เสนอรัฐบาลให้ดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการกังวลกระบวนการจากประเทศเพื่อนบ้านอาจล่าช้า พร้อมแนะนำให้ผู้ประกอบการไทยพยายามใช้เครื่องจักรในการผลิตมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพิงแรงงานต่างด้าว
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 99.6 ในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้นจากการใช้จ่ายของภาครัฐและการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งการส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
นายเจน ยังกล่าวถึงเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นว่า หากเกิดจากการที่เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ผู้ประกอบการก็ไม่ได้กังวล แต่หากมาจากเงินทุนต่างชาติไหลเข้าประเทศไทยต่อเนื่อง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรดูแลใกล้ชิด หรือใช้เครื่องมือที่มีอยู่เข้าดำเนินการหากมีความจำเป็น ขณะที่ผู้ประกอบการควรใช้โอกาสที่เงินบาทแข็งค่านำเข้าสินค้าทุน เครื่องจักร และ วัตถุดิบจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และให้ความรู้ผู้ประกอบการเข้าถึงช่องทางการตลาดในต่างประเทศ พร้อมเสนอให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน รวมทั้งแก้ไขปัญหาผังเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี สนับสนุนให้การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐใช้สินค้าของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น และเสนอให้ภาครัฐออกกฎหมายให้สอดคล้องกับความจริงและสามารถปฏิบัติได้ .- สำนักข่าวไทย