สำนักข่าวไทย 18 ก.ค.-รองปลัด ยธ.เตรียมเสนอเรื่องถึง ปลัด ยธ.ตั้งคณะทำงานยกเลิก พ.ร.บ.ขายฝากสัปดาห์นี้ หวังแก้ปัญหาเกษตรสูญเสียที่ทำกิน
พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยถึงความคืบหน้า การเสนอยกเลิกกฎหมายขายฝาก หลังผลการสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีเกษตรต้องสูญเสียที่ดินทำกินจากการนำที่ฉโนดที่ดินไปแลกกับเงินกู้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งจำนวนผู้ที่มาร้องขอความช่วยเหลือที่ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ มีกว่า 300 ราย ว่าเรื่องนี้ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน ระหว่างการขายฝากและการจำนอง
ทั้ง 2กรณีตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเหมือนกัน คือเป็นการนำทรัพย์สินมาค้ำประกันเงินกู้ แต่ต่างกันที่ขั้นตอน โดยการขายฝากคือการขายที่ดิน แต่มีเงื่อนไข คือกรรมสิทธิที่ดิน ถูกโอนย้ายต่อไปยังเจ้าหนี้ผู้ซื้อฝากตั้งแต่วันแรกที่มีการทำสัญญา แต่หากลูกหนี้นำเงินมาจ่ายไถ่ถอนตามกำหนด ก็จะได้รับกรรมสิทธิ์กลับไปตามเดิม
ส่วนการจำนองเอาที่ดินไปจำนองกับเจ้าหนี้เพื่อแลกกับเงิน แต่หากเจ้าหนี้ไม่ได้รับเงินจากลูกหนี้ตามที่กำหนด เจ้าหนี้มีสิทธิไปฟ้องร้องศาลเพื่อให้ยึดที่ดินและเมื่อชนะที่ดินจะถูกส่งต่อให้กรมบังคับคดีขายทอดตลาดต่อไป
ทั้งนี้ ความแตกต่าง คือหากจำนองจะเห็นว่าระหว่างที่ฟ้องร้องยังมีขั้นตอนที่ให้ลูกหนี้ต่อสู้ทั้งชั้นศาลหรือแม้แต่เมื่อที่ดินถูกยึดไป ลูกหนี้ก็มีสิทธิไปประมูลเพื่อนำที่ดินทำกินของตัวเองกลับมาได้ แต่ถ้าขายฝาก หากขาดการส่งหนี้เจ้าหนี้มีสิทธิยึดไปได้เลย
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเปรียบเทียบกันจะพบว่าการขายฝากมีความเสี่ยงที่จะทำให้ที่ดินหลุดมือจากเจ้าของที่ดินง่ายกว่าการจำนองหรือไม่ เรื่องนี้ รองปลัดยุติธรรม กล่าวว่า ในความเป็นจริงทั้ง 2 แบบ การได้ที่ดินกลับคืนเหมือนกัน คือถ้าจ่ายเงินครบเจ้าหนี้ก็ต้องคืนฉโนดที่มาค้ำประกันกลับให้ลูกหนี้ แต่ในส่วนการขายฝาก เจ้าหนี้มักมีการบ่ายเบี่ยง ไม่รับโทรศัพท์ ติดต่อไม่ได้ หลบหนี เพื่อให้ระยะเวลาครบกำหนด เพื่อจะให้ที่ดินตกเป็นของเจ้าหนี้ ซึ่งในทางกฎหมายเเทบจะช่วยเหลืออะไรลูกหนี้เหล่านี้ไม่ได้เลย เพราะสิทธิความเป็นเจ้าของได้ขาดสิ้นแล้ว ซึ่งโดยมากลูกหนี้จะโดนเอาเปรียบตั้งแต่การเริ่มทำสัญญา รวมถึงขาดความรู้ทางกฎหมายที่จะนำไปใช้ต่อสู้ ซึ่งนายทุนที่เป็นเจ้าหนี้ มีความรู้ด้านกฎหมายมักใช้ช่องทางเอาเปรียบชาวบ้าน ทำให้ที่ดินทำกิน หรือที่พักอาศัยตกเป็นของเจ้าหนี้ด้วยการให้กู้ด้วยวิธีขายฝาก
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด หลังได้พูดคุยปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นตรงกันว่าอยากให้มีการเสนอยกเลิกกฎหมายขายฝาก ความคืบหน้าล่าสุดเรื่องนี้ได้ ให้คณะทำงานรวบรวมผลการวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ รวบรวามความเห็นจากการเปิดเสวนา และข้อมูลทางลับในเรื่องมูลค่าและจำนวนที่ดิน ที่เปลี่ยนมือจากเหตุขายฝาก สรุปเป็นรายงานส่งต่อให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมเห็นชอบ เพื่อให้ตั้งคณะทำงานในการศึกษาการยกเลิกกฎหมายขายฝาก คาดว่าจะส่งเรื่องให้ปลัดพิจารณาได้ภายในสัปดาห์นี้ เพราะถือเป็นเรื่องเร่งด่วน หากผ่านความเห็นชอบคงจะต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่าปีครึ่งเหมือนกับที่เคยทำสำเร็จมาแล้วในการแก้ไขกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา
ส่วนจะมีโอกาสที่การยกเลิกกฎหมายขายฝากจะผ่านหรือไม่ เรื่องนี้ พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวว่า หากผู้มีอำนาจทางกฎหมาย และผู้เกี่ยวข้องเห็นความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรที่ตอนนี้พบว่ากว่าร้อยละ 30ไม่มีที่ดินทำเพราะเหตุนี้ก็น่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ หรือไม่อย่างน้อยที่สุดอาจจะต้องเพิ่มเงื่อนไขการขายฝากให้ยากขึ้น โดยเฉพาะระยะเวลาเพิ่มขึ้น เพราะส่วนใหญ่ขายฝากในปัจจุบันเจ้าหนี้ ทำสัญญากันแค่ 3-6 เดือนเท่านั้นหรือต้องเพิ่มการค้ำประกันจากข้าราชการระดับสูงในพื้นที่ และมีการประเมินความสามารถที่จะชำระหนี้
แต่ในระหว่างที่กำลังแก้ไขกฎหมายเกษตรกร ควรต้องศึกษาเงื่อนไขกฎหมาย หรือให้ผู้มีความรู้ช่วยตรวจสอบเงื่อนไขสัญญาเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของนายทุน
ส่วนคดีฆ่ายกครัว 8 ศพที่ผู้ต้องหามีลักษณะปล่อยเงินกู้ โดยยึดเอาโฉนดที่ดินของลูกหนี้มา ลักษณะคล้ายกับการขายฝาก เรื่องนี้ทางกระทรวงฯไม่ได้เข้าไปศึกษา จึงไม่สามารถให้ความเห็นได้.-สำนักข่าวไทย