กระทรวงการคลัง 17 ก.ค. – สบน.เตรียมแผนกู้เงินรองรับสร้างรถไฟไทย-จีน ย้ำภาระหนี้ ธปท.-อปท.ไม่เป็นภาระหนี้สาธารณะ ล่าสุดหนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 42.90 ของจีดีพี
นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน.เตรียมแผนการกู้เงินรองรับการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา วงเงินลงทุน 179,000 ล้านบาท รัฐบาลบรรจุแผนก่อหนี้สำหรับปี 2560 จำนวน 1,700 ล้านบาท สำหรับการจ้างที่ปรึกษาการลงทุนและออกแบบก่อสร้างรายละเอียด หลังจากนั้นจะทยอยกู้เงินตามแผนลงทุนระยะ 3-4 ปีข้างหน้า คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ 1-2 เดือนข้างหน้า เมื่อรัฐบาลเป็นผู้ลงทุนระบบโยธาทั้งหมดทั้งจัดหาผู้รับเหมา จัดซื้อจัดจ้าง และลงนามสัญญาได้แล้วจะเริมเดินหน้าก่อสร้างปี 2561 ใช้เงินลงทุนด้านระบบขบวนรถไฟประมาณ 38,000-40,000 ล้านบาท หรืองานที่ไทยยังผลิตไม่ได้จะกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อลงทุน ขณะนี้กำลังหารือกับไชน่าเอ็กซิมแบงก์ และหารือกับธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ของจีน โดยต้องเลือกเงื่อนไขดีที่สุด ส่วนค่าใช้จ่ายด้านระบบราง งานโยธา จะกู้เงินในประเทศเป็นหลัก
สำหรับการแก้ไขกฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณา ย้ำชัดเจนว่าการแก้ไขนิยาม “หนี้สาธารณะ” ไม่นับรวมหนี้ของหน่วยงานภาคการเงิน (Financial Sector) ได้แก่ หนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจบริหารสินทรัพย์และธุรกิจประกันสินเชื่อที่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของกฎหมาย เพราะ ธปท.มีกฎหมายที่มีความเป็นอิสระต่อรัฐบาล จึงไม่สามารถซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่อนำเงินส่งให้รัฐบาลใช้จ่ายเหมือนในอดีต ไม่เหมือนกับธนาคารสหรัฐอัดฉีดเงินแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้
ทั้งนี้ เมื่อ ธปท.มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจทำธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยกระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน โดยหลักการหนี้เงินกู้ของ ธปท.เกิดขึ้นจากการออกพันธบัตรและการดูดซับสภาพคล่องของระบบการเงิน เพื่อดำเนินนโยบายการเงินในฐานะธนาคารกลาง ซึ่งการไม่นับหนี้ของ ธปท.เป็นหนี้สาธารณะนั้น สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของประเทศส่วนใหญ่ที่ไม่นับหนี้ของธนาคารกลางเป็นหนี้สาธารณะ (Public Debt) เช่นกัน ปัจจุบัน ธปท. มีหนี้เงินกู้ 4.26 ล้านล้านบาท (ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2560) ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะครั้งนี้จึงเป็นไปตามหลักสากล
รวมทั้งหนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหนี้ของหน่วยงานภาคการเงิน (Financial Sector) ที่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน ซึ่งไม่นับรวมเป็นหนี้สาธารณะตามกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ. ได้เพิ่มอำนาจให้ สบน.วิเคราะห์ติดตามสถานะหนี้ดังกล่าว เพื่อให้เห็นภาพรวมการก่อหนี้ของประเทศ ขณะนี้กำลังร่างระเบียบเสนอคณะกรรมการบริหารหนี้ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อติดตามแนะนำและบังคับองค์กรท้องถิ่น เมื่อได้กู้เงินมาใช้ในการพัฒนาด้านต่าง ๆ อปท.กู้เงินรายใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดต่าง ๆ ขณะนี้มีภาระหนี้เงินกู้ประมาณ 30,000 ล้านบาท และการแก้กฎหมายใหม่ไม่ทำให้ภาระหนี้สาธาณะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ปัจจุบันหนี้สาธารณะมีจำนวน 6.34 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.90 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) .- สำนักข่าวไทย