กรุงเทพฯ 21 พ.ย. – แบงก์ออมสิน ดึงหลายฝ่ายร่วมสร้างสังคมยั่งยืน สร้างธุรกิจเพื่อสังคม ตัวแทนชุมชนขานรับ แนะขยายสถาบันการเงินกระจายทั่วประเทศ รับลูกรัฐบาลแก้ปัญหาหนี้ในและนอกระบบ
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธ.ออมสินจัด GSB Forum 2023 หัวข้อ ESG : Social Pillar Driven “คนยั่งยืน เพื่อโลกที่ยั่งยืน” เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถ่ายทอดมุมมองการดำเนินธุรกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยกรอบแนวคิด ESG ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 แกนหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment-Social-Governance) ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจเน้นแกนหลักด้านสังคม (Social) เป็นตัวขับเคลื่อนตามจุดยืนทางยุทธศาสตร์ของธนาคาร
เห็นได้จากผลประกอบการในปีนี้ คาดว่ามีกำไรสุทธิ 33,000 ล้านบาท เป็นผลมาจากการลดต้นทุนหลายด้าน ไม่ได้มาจากการปรับเพิ่มดอกเบี้ย แม้ท่ามกลางแนวโน้มดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น ตั้งแต่ครึ่งปีหลังปี 65 ธ.ออมสิน ยังตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำสุดในระบบ และยังพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลแก้ปัญหาหนี้ในและนอกระบบ เพื่อคลี่คลายปัญหาลดภาระหนี้ โดยเฉพาะการดึงดอกเบี้ยเงินกู้ในวงการ Non Bank ให้ลดลง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาใบอนุญาติจากแบงก์ชาติ ในการตั้งบริษัทลูก “เงินดีดี” ดำเนินธุรกิจ Non Bank ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท ออมสินเข้าถือหุ้นร้อยละ 85
Prof. Dr. AKM Saiful Majid ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Grameen Bank ประเทศบังกลาเทศ นำเสนอตัวอย่างผลงานรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของ “ธนาคารหมู่บ้าน” เป็นต้นแบบธนาคารเพื่อสังคมและผู้ยากไร้ที่โด่งดังไปทั่วโลก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินธุรกิจ นอกจากเกิดผลทางเศรษฐกิจแล้ว ยังช่วยสร้างประโยชน์ต่อผู้คนและสังคมไปพร้อมกันด้วย เพราะสามารถดึงให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการออมสิน สร้างวินัยการออม แก้ปัญหาเงินทุนในชุมชน พึ่งพาตนเองได้ นับว่ามีเชื่อเสียงไปทั่วโลก
นายปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BRANDi and Companies กล่าวว่า แนวคิดการสร้างคุณค่าร่วม (CSV : Creating Shared Value) เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจและภาคสังคม จากแนวโน้มกระโลกยุคใหม่ การสร้างความยั่งยืนในภาคธุรกิจ มีความสำคัญมาก เพื่อให้ทุกภาคส่วนทั้งคู่ค้า พนักงาน ทุกส่วนเติบโตไปได้พร้อมกัน ไม่ใช่ธุรกิจได้กำไร จากเครื่อข่ายในวงจรธุรกิจไปไม่รอด ทั้งการขอกู้ คู่สัญญาทางการค้า ลงทุนทั่วโลกไปในทางนี้ ทุกฝ่ายจึงต้องปรับตัวไปพร้อมกัน
นางบุญรักษ์ อุดมอิทธิพงศ์ รองผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธ.ออมสิน มุ่งเดินหน้าตามแนวคิดการสร้างคุณค่าร่วม CSV แตกต่างจากการทำ CSR ขององค์กรค์ต่างๆ เพราะการทำ CSV ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม เข้าไปเติมเต็มตามความต้องการของแต่ละชุมชน การเพิ่มมูลค่าทั้งสินค้าในชุมชน การผลิต การพัฒนาด้านต่างๆ ชุมชนต้องร่วมมือกัน รวมไปถึงการใช้ระบบดิจิทัลของออมสิน เข้าไปส่งเสริมการออมให้กับนักเรียน เพื่อจบการศึกษาออกไป จะสร้างวินัยการออมให้กับเยาวชน
นายเจริญ ดวงสุวรรณ ผู้จัดการสถาบันการเงินประชาชน ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า สถาบันการเงินประชาชน บ้านน้ำขาว นับว่า ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จนทำให้ช่วยเหลือสวัสดิการด้านต่างๆให้กับชาวบ้านเพิ่มเติมจากรัฐ โดยเฉพาะการเติมทุนหมุนเวียน แต่ก่อนจะปล่อยกู้ให้กับสมาชิก ต้องดูถึงความเดือนร้อน และศักยภาพแต่ละคน เมื่อชาวบ้านอยากปลดหนี้นอกระบบ จึงทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพราะเป็นใกล้ชิดกัน มองเห็นพฤติกรรมของสมาชิกในหมู่บ้าน ดูแลกันได้อย่างทั่วถึง จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐ ช่วยกันขยายสถาบันการเงินประชาชน กระจายไปทั่วประเทศ. -สำนักข่าวไทย