กรุงเทพฯ 16 พ.ย.-“นิกร” กางไทม์ไลน์ลงพื้นที่ 4 ภาค รับฟังความเห็นทำประชามติแก้ รธน. คาดสรุปทั้งหมดให้ ครม.ได้ช่วงปีใหม่ ยอมรับเจอหล่มใน พ.ร.บ.ประชามติ วางเงื่อนไขเสียงข้างมาก 2 ชั้น แทบเป็นไปไม่ได้
นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะโฆษกและกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เปิดเผยถึงกรอบเวลาการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนประกอบการศึกษาแนวทางการทำประชามติและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ จะลงพื้นที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกร กลุ่มแม่บ้าน ท้องถิ่นต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคอีสาน จากนั้นวันที่ 23 พฤศจิกายน จะไปรับฟังความเห็นกลุ่มอุตสาหกรรม ผู้ใช้แรงงาน และประชาชนในภาคกลาง ที่จังหวัดสมุทรปราการ
“วันที่ 28 พฤศจิกายน จะไปรับฟังความเห็นกลุ่มชาติพันธุ์ และประชาชนชาวเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนฟังความเห็นประชาชนที่ภาคใต้และมุสลิมที่จังหวัดสงขลา โดยจะนำความเห็นที่ได้ทั้งหมดมาสรุปเพื่อตั้งคำถาม และเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาฯ แล้ว จะทำแบบสอบถามความเห็นประชามติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จาก สส. และ สว. ทั้ง 750 คน แต่ไม่เปิดประชุมรัฐสภานัดพิเศษ คาดว่าจะสรุปความเห็นทั้งหมดที่คณะกรรมการได้รับเสนอที่ประชุมคณะกรรมการฯ วันที่ 22 หรือ 23 ธันวาคมนี้ รวมถึงในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม เพื่อสรุปแนวคำถามและจำนวนครั้งในการทำประชามติ เมื่อขึ้นศักราชใหม่ 2567 จะสรุปความเห็นทั้งหมดให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการต่อไป” นายนิกร กล่าว
ส่วนกรณีที่การจัดการออกเสียงประชามติจะไปทับซ้อนกับการจัดการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดด้วย นายนิกร ยอมรับว่า ในการจัดการออกเสียงประชามติ ครั้งที่ 2 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เสร็จ ซึ่งสามารถดำเนินการไปพร้อมกันได้ เพื่อให้ประชาชนใช้สิทธิไปควบคู่กัน และประหยัดงบประมาณ แต่การจัดการออกเสียงประชามติครั้งแรกนั้นไม่มีปัญหา
นายนิกร เปิดเผยปัญหาในพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดการออกเสียงประชามติว่า ในมาตรา 13 ที่กำหนดเงื่อนไขการผ่านประชามติ 2 ชั้น คือ ทั้งเป็นเสียงประชาชนข้างมากที่มีสิทธิเลือกตั้ง หรือประมาณ 26 ล้านผู้มีสิทธิ และจะต้องได้รับเสียงข้างมากของประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง หรือประมาณ 13 ล้านเสียงด้วย ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ ตนและคณะอนุกรรมการฯ ที่ตนดูแล จะเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่รับทราบในวันที่ 24 พฤศจิกายน เพื่อเสนอให้แก้ปัญหาดังกล่าวนี้ต่อไป โดยอาจจะต้องเสนอเป็นพระราชบัญญัติแก้ไข พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ และพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป.-สำนักข่าวไทย